ปคบ.ร่วม อย. ทลายโรงงานเถื่อน ผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม ตร.เผยผู้เสียหาย จะสั่งซื้อไปถวายภิษุอาพาธ โควิด-19 กลับกลายเป็นยาปลอม

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รักษาการรองเลขาธิการ อย. แถลงจับกุมโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังเข้าตรวจค้นที่อาคารพาณิชย์ 3 คูหา ในอ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

พบของกลางยาฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูลบรรจุในกระปุก ๆ ละ 450 เม็ด ติดฉลากตรา “ฟ้าทะลายโจร” ไม่ระบุเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 43 กระปุก ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรผสมถั่งเช่า กระปุกละ 50 เม็ด จำนวน 130 กระปุก ยาเม็ดแคปซูลยังไม่ได้บรรจุลงขวด 182,500 เม็ด ฉลากสินค้าและขวดพลาสติกเปล่าจำนวนหลายพันขวด

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เปิดเผยว่า คดีนี้มีผู้เสียหายร้องเรียนหลังสั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อไปถวายพระภิกษุที่อาพาธโรค โควิด-19 จากโฆษณาผู้ค้าในเพจเฟซบุ๊ก “ฟ้าทะลายโจร ยาสมุนไพรไทย ต้านไวรัส” โฆษณาสรรพคุณ “ซื้อกินเองไว้ก่อน รอฉีด เสริมภูมิ ช่วยได้ด่วนก่อนขาดตลาด ราคาเม็ดละ 1 บาท 1 กระปุก 450 เม็ด” พบเป็นยาเม็ดแคปซูล สีเขียวบรรจุในขวดพลาสติกสีขาว ฉลากสีเขียวขาว ยี่ห้อ “ฟ้าทะลายโจร” ภายในเป็นแคปซูลเป็นผงสมุนไพร สีน้ำตาลอมเขียว

ผู้เสียหายได้ทดสอบดูปรากฏว่าไม่มีรสขม ซึ่งผิดปกติคล้ายกับนำพืชอื่นมาผสมแทน ส่วนฉลากพบระบุสถานที่ผลิต โดยวิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงไม่สามารถตรวจสอบผู้ผลิตที่แท้จริงได้ เชื่อว่าน่าจะเป็นของปลอม

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนจนพบผู้ที่โพสต์ขายยาดังกล่าว ซึ่งก็ยอมรับว่า ไม่รู้ว่าเป็นสินค้าปลอม โดยไปรับมาจากโรงงานแห่งหนึ่งที่จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่จึงสืบสวนและรวบรวมหลักฐาน พร้อมขอหมายเข้าตรวจค้นดังกล่าว

จากการสอบสวนทราบว่า โรงงานแห่งนี้ไปรับวัตถุดิบเป็นผงสมุนไพรมาจากแหล่งอื่น แล้วนำมาบรรจุลงแคปซูลออกจำหน่าย โดยมีสองแม่ลูกร่วมกัน โดยคนลูกเป็นเจ้าของโรงงาน คนแม่เป็นผู้จัดการ จึงจับกุมดำเนินคดี ข้อหา “ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์ สมุนไพรปลอม,ร่วมกันผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์ สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีต่อไป

ด้านภญ.สุภัทรา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบร้องเรียนเกี่ยวกับการขายและการโฆษณาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรทั้งทางเว็บไซต์ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มาตลอด เบื้องต้นพบผลิตภัณฑ์ชนิดดังกล่าวที่ผิดกฎหมาย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้วัตถุดิบอื่นแทนฟ้าทะลายโจร เช่นผงบอระเพ็ด

ส่วนกลุ่มสองก็คือ ผลิตภัณฑ์ปลอมโดยสวมเลข อย. ของ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างว่ามีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ ซึ่งไม่เคยมีการอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เพราะมีฤทธิ์ทางยา และกลุ่มที่สามก็คือผลิตภัณฑ์ปลอมโดยสวมเลขทะเบียนของผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น ดังนั้นจึงขอเตือนให้หยุดกระทำการดังกล่าวโดยเด็ดขาด และขอให้ประชาชนระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน