ปคบ. – อย. บุกจับคลินิกเถื่อน ลอบให้บริการตรวจ โควิด-19 ผงะพบตัวอย่างเลือด และปัสสาวะ ถูกเก็บรักษาไม่ถูกสุขลักษณะ จำนวนมาก

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ.พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รรท.รองเลขาธิการ อย. ร่วมแถลงจับคลินิกเถื่อนลอบให้บริการห้องแล็บตรวจคัดกรองโควิด 19 โดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ให้บริการก็ไม่ใช่บุคลากรของสาธารณสุข

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้รับการประสานจากสสจ.ปทุมธานี ว่าพบคลินิกเถื่อนเปิดห้องปฏิบัติการตรวจสารคัดหลั่ง โควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK และยังออกใบรับรองผลให้แก่ประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ได้มาตรฐาน จึงประสานมายังบก.ปคบ. เพื่อสืบสวนจับกุม ก่อนเข้าตรวจสอบที่คลินิกที่ต.บ้านกระแซง อ.เมืองปทุมธานี

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบ คลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการตรวจคัดกรองโรค โควิด-19 แก่ประชาชนทั่วไปด้วยชุดตรวจ ATK รายละ 500 บาท และออกใบรับรองผลในนามของคลินิก โดยที่ไม่ได้มีการขออนุญาตประกอบกิจการกับสสจ.ปทุมธานี แต่กลับนำใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลจากที่อื่นมาแสดงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและผู้ช่วยก็ไม่ใช่แพทย์ หรือนักเทคนิคการแพทย์แต่อย่างใด โดยยังพบอีกว่ามีการจัดเก็บตัวอย่างเลือดและตัวอย่างปัสสาวะนับพันชิ้น ที่ออกไปรับตรวจให้กับโรงงาน หรือบริษัทต่าง ๆ มาเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นโดยไม่ถูกสุขลักษณะ ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บขยะติดเชื้อที่เป็นไปตามมาตรฐานด้วย

เบื้องต้นจึงมีการจับกุมน.ส.วาสิตา เจ้าของและผู้ดูแลสถานที่ ในความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล ฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) และน.ส.พรนภา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตรวจ ตามพ.ร.บ.เทคนิคการแพทย์ ฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวนบก.ปคบ. ดำเนินคดี

ด้านนพ.ธเรศ กล่าวว่า การตรวจสารคัดหลั่งของเชื้อ โควิด-19 จะต้องกระทำในคลินิก หรือห้องปฏิบัติการที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้นก็อาจเสียเวลาและเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะผู้ให้บริการขาดความชำนาญ หรืออุปกรณ์การตรวจ คัดกรองที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลตรวจที่ได้ก็ขาดความเที่ยงตรง

อีกทั้งวิธีการที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือการระบาดจากสถานที่เก็บตัวอย่างได้ ก็ขอให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลทุกครั้งก่อนรับบริการด้วย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อคลินิกที่ขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า เทคนิคการตรวจด้วยชุดทดสอบ ATK ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อคัดกรองการติดเชื้อในเบื้องต้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือแบบตรวจอนติเจนด้วยตนเอง และแบบใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ทั้ง 2 แบบต่างกันที่อุปกรณ์และตำแหน่งการเก็บตัวอย่าง

ในการจับกุมครั้งนี้แม้เจ้าหน้าที่จะพบว่า ชุดทดสอบที่ใช้ตรวจหาแอนติเจนเป็นแบบตรวจด้วยตนเองซึ่งได้รับอนุญาตจาก อย. อย่างถูกต้อง แต่เป็นการกระทำของผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งไม่มีความรู้ความชำนาญ อีกทั้งสถานที่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ผู้ไปใช้บริการก็ ก็จะเสียเวลาเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน