พล.ต.ต.ชรินทร์ ผบก.สอท.5 ประสานเฟซบุ๊กปิดกั้น หลังโจรออนไลน์ ปลอมเพจตำรวจไซเบอร์ สั่งชุดสืบสวนแกะรอยล่าควบคู่ประชาสัมพันธ์ประชาชนสร้างการรับรู้ เชื่อทำเป็นขบวนการ แนะวิธีป้องกัน 10 ข้อให้ประชาชนปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองผบก.สอท.5 และโฆษก บช.สอท. เผยว่า ภายหลังทางบช.สอท. ได้รับรายงานจากระบบศูนย์บริหารการแจ้งความออนไลน์ และสายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หลังมีผู้เสียหายหลายรายร้องเรียนว่า ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล และหลักฐานทางคดี อาจถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือผิดกฎหมาย ผ่านเพจปลอมในชื่อตำรวจไซเบอร์ โดยทำทีมีคนรับเรื่องติดตามแจ้งความร้องทุกข์และให้คำปรึกษาเหยื่อ อ้างเป็นนายตำรวจยศ “พ.ต.อ.” เชี่ยวชาญด้านไอที แถมมีทนายความบริการติดตามเอาทรัพย์สินคืน หลอกล่อเอาทั้งข้อมูลส่วนตัว และเรียกรับเงินค่าดำเนินการ

พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้ทางพ.ต.ท.อาทิตย์ ชาตินักรบ รองผกก.4 บก.สอท.5 ทำหนังสือประสานกับทางเจ้าของแพลตฟอร์มเฟชบุ๊กเพื่อทำการปิดเพจดังกล่าวแล้ว รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านหน้าเพจของทางกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5-CCID5 ถึงกรณีดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนทราบ

ควบคู่กับการดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และวิธีการสังเกตป้องกันการเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กปลอมผ่านสื่อมวลชนให้ช่วยประชาสัมพันธ์ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามในส่วนของการติดตามผู้กระทำความผิด ได้สั่งการให้ทางชุดสืบสวนตรวจสอบข้อมูลทางเทคนิคว่าใครเป็นผู้ดำเนินการปลอมแปลงเพจหน่วยงานของบก.สอท.5 ซึ่งขณะนี้พอที่จะทราบกลุ่มบุคคลแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า ทางบช.สอท.เร่งรัดขับเคลื่อนป้องกันและปราบ ปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างหน่วยงานรัฐ หลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน

การใช้งานหรือเข้าถึงบริการต่างๆบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการติดต่อหน่วยงานรัฐ ควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่าเป็นของหน่วยงานจริงหรือไม่ ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี มิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง รวมถึงไม่หลงเชื่อเพียงเพราะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ แอบอ้างสัญลักษณ์หน่วยงาน หรือประกาศโฆษณา หรือมีชื่อเพจเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ที่ตั้งชื่อคล้ายหน่วยงานนั้นๆ

ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันการเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กปลอมดังนี้ 1.ประชาชน ที่ได้รับความเสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline. com เท่านั้น และโทร.สอบถามหรือปรึกษาได้ที่สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 08-1866-3000 และไม่มีช่องทางไลน์ในการติดต่อ มีเพียงแชตบอท @police1441 เอาไว้ปรึกษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คอยให้บริการตอบคำถามตลอด 24 ชม.

2.บช.สอท.และหน่วยงานในสังกัด ไม่มีนโยบายให้ประชาชนติดต่อทนายความ หรือให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อติดตามทรัพย์สินที่ถูกหลอกไปกลับคืนได้

3.เพจเฟซบุ๊ก บก.สอท.2 คือ “ตำรวจไซเบอร์ 2” มีผู้ติดตามกว่า 7 พันคน สร้างบัญชีเมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 และเพจเฟซบุ๊ก บก.สอท.5 คือ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5-CCID5” มีผู้ติดตามกว่า 1 หมื่นคน สร้างบัญชีเมื่อวันที่ 6 พ.ย.63 หากท่านต้องการเข้าสู่เพจดังกล่าวขอให้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน

4.เพจเฟซบุ๊กจริงต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม

5.เพจเฟซบุ๊กจริง มักมีส่วนร่วมโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป

6.เพจเฟซบุ๊กปลอม หากตรวจสอบความโปร่งใสของเพจจะพบว่า สร้างขึ้นไม่นาน และอาจเปลี่ยนชื่อมาจากเพจอื่นที่น่าสงสัย หรือมีผู้ดูแลเพจอยู่ต่างประเทศ

7.ไม่กรอกหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดีผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊กโดยเด็ดขาด

8.การพิมพ์ชื่อหน่วยงานเพื่อค้นหาเว็บไซต์ของหน่วยงานใดๆไม่ปลอดภัยเสมอไป ควรเพิ่มความระมัดระวัง สังเกตชื่อเว็บไซต์หรือสังเกตรูปแบบมาตรฐานในการเข้าถึงข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต (URL) อย่างละเอียด และไม่หลงเชื่อเว็บไซต์ที่ยิงโฆษณาของมิจฉาชีพ

9.หากพบหรือไม่แน่ใจว่าเป็นเพจเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานโดยตรงผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงาน เพื่อสอบถามและแจ้งให้ตรวจสอบทันที และ

10.หากมีการให้โอนเงินไปยังหน่วยงานที่แอบอ้างก่อนได้รับบริการให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน