ตร.ไซเบอร์ ทลายล้างขบวนการหลอกลงทุนคริปโต พบเอาเงินไปฟอกเปิดเว็บพนันอีกที ตรวจยึดทั้งหมด ทั้งเงินสด-รถหรู มูลค่ากว่า 125 ล้าน เตรียมเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 23 เม.ย.2567 ที่บช.สอท. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษา รมว.ดิจิทัล พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3
พล.ต.ต.จิตตพล ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 นายวิทยา นีติธรรม โฆษกสำนักงานปปง. ร่วมกันแถลงปฏิบัติการ “BLACK HAT” ล่าล้างขบวนการหลอกลงทุนคริปโต ตรวจยึดทรัพย์สินกว่า 125 ล้านบาท
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีผู้เสียหายได้แจ้งความหลังโดนคนร้ายสร้างโปรไฟล์ปลอม ก่อนหลอกลวงให้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเงินคริปโต ซึ่งคนร้ายได้สร้างแพลตฟอร์มปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกผู้เสียหายว่าได้กำไรจากการลงทุน จากนั้นจะหลอกล่อให้ผู้เสียหายนำเงินมาลงทุนเพิ่ม
จนกระทั่งไม่สามารถถอนคืนเงินลงทุนคืนได้ สร้างความเสียหายกว่า 530 ล้านบาท โดยคดีนี้มีความเชื่อมโยงหลายท้องที่ และมีรูปแบบแผนประทุษกรรมในรูปแบบเดียวกัน โดยจากข้อมูลพบว่ามี 1 ในผู้เสียหาย เป็นผู้สูงอายุโดนหลอกให้ลงทุนมากถึง 308 ล้านบาท และได้ออกหมายจับ 90 ราย จับกุมไปกว่า 23 ราย
ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน สิงคโปร์ ลาว เวียดนามและคนไทยร่วมก่อเหตุ ประกอบกับห้วงเวลาเดียวกัน บช.สอท.จับกุมเว็บ ufabetjc และ play beer777 ที่มีเงินหมุนเวียนกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี โดยจับกุมได้ 7 ราย ทั้งกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ กลุ่มผู้จัดการเรื่องการเงิน จนไปถึงเจ้าของบัญชี พร้อมตรวจยึดเงินสด 117,835,200 บาท
รถยนต์ปอร์เช่ รุ่น CAVANNE จำนวน 1 คัน มูลค่าประมาณ 8 ล้านบาท และของกลางอื่นๆ อีกหลายรายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 150 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหลังจับกุมพบว่าเส้นทางการเงินของคดีหลอกลงทุนคริปโต มีความเชื่อมโยงกับเส้นทางการเงินในคดีเว็บพนันออนไลน์ โดยพบว่าเงินที่ถูกหลอกลวงจากการการลงทุนคริปโต ได้ถูกนำมาผ่านกระบวนการฟอกเงิน
พล.ต.ต.สถิตย์ กล่าวว่า โดยมีกลุ่มคนร้ายแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน ซึ่งมีนายกัญจน์นิพิฐ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาในคดีเว็บพนันทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทางการเงิน ให้แก่กลุ่มอาชญากรข้ามชาติต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงจากการฟอกเงิน ที่ได้จากการกระทำความผิดในหลายคดี
จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อได้ว่า ทรัพย์สินที่ตรวจยึดในคดีนี้ได้มาจากการหลอกลงทุนทรัพย์สินดิจิทัล โดยผ่านกระบวนการฟอกเงิน ที่สลับชับซ้อนด้วยวิธีการใช้โพยก๊วนสมัยใหม่ (คริปโตเคอร์เรนซี่) เพื่อแปลงสภาพทรัพย์สิน ได้มาจากการกระทำความผิด
ด้าน นายวิทยา กล่าวว่า ทางบช.สอท.ประสานสำนักงานปปง.ก่อนมีคำสั่งที่ ย.93/2567 ลงวันที่ 22 เม.ย.67 เพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้ชั่วคราวที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและนำมาเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายต่อไป