รวบนายหน้า ขายบุหรี่ไฟฟ้า รายใหญ่ กระจายสินค้าไปยังหลายสาขา พบเคยติดคุกมาแล้วกว่า 11 ปีไม่เข็ด อ้าง ไม่ใช่เจ้าของเป็นแค่คนประสานงาน นายทุนกับร้าน
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.68 พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น.ดูแลงานสืบสวน พล.ต.ต.พัลลภ แอร่มหล้า รองผบช.น.ดูแลงานยาเสพติด พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์ รอง ผบก สส.บช.น. พ.ต.อ.อรรชวศิษฏ์ ศรีบุณยมานนทน์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น.พ.ต.ท.ปกรณ์ ทองช่วง และ พ.ต.ท.วิโรฒ จนุบุษย์ รอง ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พร้อมชุดสืบสวนกก.สส.3 บก.สส.บช.น.
จับกุม นายนพธณรงค์ บุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 403/2568 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2568 ความผิดฐาน “ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขายสินค้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งห้ามขาย (บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า) และร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นสิ่งของต้องห้ามนำเข้าในราชอาณาจักร”
สืบเนื่องจากในวันที่ 7 มี.ค.68 สืบนครบาล ร่วมกับ ตำรวจภูธรภาค 1 เปิดปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมโกดังเก็บบุหรี่ ในหมู่บ้านใน จ.นนทบุรี ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 ราย และตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมน้ำยาประมาณ 30,000 ชิ้น จากนั้น ชุดสืบนครบาล สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม จนกระทั่งทราบว่า นายนพธณรงค์มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมน้ำยาจำนวนดังกล่าว จึงได้ขอหมายจับต่อศาลจังหวัดนนทบุรี
ต่อมาวันที่ 14 มี.ค.68 เวลาประมาณ 12.00 น. ชุดสืบนครบาล สืบสวนติดตามจับกุมตัว นายนพธณรงค์ บุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 403/2568 ลงวันที่ 7 มี.ค.2568 จากการตรวจสอบ นายนพธณรงค์ เคยถูกจับกุมคดียาเสพติด (ยาไอซ์) ถูกจำคุกมาแล้วประมาณ 11 ปี
ในชั้นจับกุม นายนพธณรงค์ ให้การรับสารภาพข้อกล่าวหา โดยให้การว่า ไม่ใช่เจ้าของกิจการที่แท้จริง มีหน้าที่เพียงเป็นผู้ประสานงานระหว่างนายทุนกับพนักงานร้านแต่ละสาขา เป็นคนรวมเงินจากหน้าร้านไปให้กับเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งเป็นเพื่อนชาวจีนของตน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐาน และขยายผลไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงต่อไป
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมยึดรถเบนซ์ไว้ตรวจสอบ โดยจะตรวจยึดส่ง สภ.เมืองนนทบุรี และนำตัวผู้ต้องหาส่ง สภ.บางศรีเมือง เพื่อดำเนินคดีตามหมาย ทั้งนี้ ฝากไปถึงเยาวชนหากมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในความครอบครอง มีความผิดในหลายมาตรา เช่น พ.ร.บ.ศุลกากรมาตรา 246 หากทำการซื้อขายก็ผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์