นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ภัยแล้ง 2559/60 ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานว่า ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2559/60 ในเขตพื้นที่ชลประทาน ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำทุนเพื่อใช้บริหารจัดการ 31,245 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น จัดสรรน้ำเพื่อใช้ฤดูแล้ง 17,673 ล้านลบ.ม. และสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนเดือนพ.ค.-ก.ค.ปี 60 จำนวน 13,205 ล้านลบ.ม. โดยปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ในฤดูแล้งปี 60 จำนวน 17,673 นี้ แบ่งเป็น อุปโภคและบริโภค 2,339 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 13%, รักษาระบบนิเวศ 5,440 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 31%, การเกษตร 9,579 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 54% และอุตสาหกรรม 315 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 2%

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ 5 อ่างเก็บน้ำ ยกเลิกการส่งน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ทั้งการปลูกข้าวและปลูกพืชไร่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคเท่านั้น ได้แก่ จ.นครราชสีมา 4 แห่ง คือ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ และจ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 แห่ง คือ เขื่อนปราณบุรี ในขณะที่อ่างเก็บน้ำอีก 5 แห่ง จะสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ยกเว้นข้าว) เท่านั้น ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์, เขื่อนศรีนรินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี และภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ เป็นต้น กลับไปสรุปข้อมูลพื้นที่ประสบภัยแล้งที่ยังไม่ตรงกันของแต่ละหน่วยงาน และการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในปีที่ผ่านมาและในอนาคต รวมถึงการสำรวจพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชหรือข้าว ในแต่ละจังหวัด และอำเภอ พร้อมให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนประหยัดน้ำในฤดูแล้ง โดยจะต้องสรุปข้อมูลทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอที่ประชุมในการประชุมครั้งหน้าต่อไป

“ในที่ประชุมได้นำ 8 มาตรการช่วยเหลือภัยแล้งปี 2558/59 ขึ้นมาพิจารณา โดยจะคัดเลือกเลือกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดในฤดูแล้ง 2559/60 มาใช้ อาทิ มาตรการที่ 3 มาตรการจ้างงานในฤดูแล้ง มาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน และมาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ประสบความสำเร็จในแก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือภัยแล้งในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะยังไม่มีการเสนอมาตรการเพิ่มเติม โดยจะยึดมาตรการเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฤดูแล้งปี 2558/59 ไปก่อน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน