นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และรักษาราชการแทนตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ Robotics Cluster Pavillion เผยมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น

โดย สศอ. ตั้งเป้าหมายจะมีการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติใช้ในไทยได้เอง 200,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ช่วยลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศได้ 30% หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท และยังตั้งเป้าหมายไทยสามารถส่งออกหุ่นยนต์ได้ในปี 2569

นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์ กล่าวว่า จากการสำรวจความต้องการใช้หุ่นยนต์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิตมีประมาณ 1 แสนราย ที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาใช้หุ่นยนต์ จากจำนวนทั้งสิ้นที่มีกว่า 3 แสนราย ซึ่ง 85% ให้ความเห็นว่าหากไม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติปีละ 1.4 แสนล้านบาท และคาดปีนี้จะมีการลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์จากต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

สำหรับผลการเดินทางเยือนต่างประเทศของนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เพื่อพบผู้ผลิตหุ่นยนต์จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยเจเทค ประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ รวมถึงเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทยด้วย

ทั้งนี้ จากที่ผ่านมามีบริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ในลักษณะผลิตหุ่นยนต์ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมไฮเทคที่เข้ามาตั้งโรงานในไทย เช่น โรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน รถยนต์ไฟฟ้า ชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งระยะต่อไปจะขยายผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมทั่วไป ส่วนเกาหลีใต้ ก็มีผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยเช่นกัน

นายชิต กล่าวว่า ในระยะแรกไทยมีแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการออกแบบและบูรณาการระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (เอสไอ) ของไทยให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,400 รายภายใน 5 ปี จากปัจจุบันมี 250 ราย เป็นการสร้างรากฐานการผลิตหุ่นยนต์ในไทย ควบคู่กับสร้างความต้องการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการญี่ปุ่นมองว่าจะต้องผลิตหุ่นยนต์ให้ได้ 6,000-6,500 ตัวต่อปี จึงจะคุ้มทุน แต่ไทยมองว่าหากผลิตหุ่นยนต์ได้ปีละ 500 ตัว ก็คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว เพราะเป็นโรงงานขนาดเล็ก

ด้านนายประพิณ อภินรเศรษฐ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (ทารา) เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเสนอและแนวทางส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้รัฐบาลพิจารณาภายใน 1 เดือน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้หุ่นยนต์แพร่หลายในประเทศ เช่น เสนอให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างระบบอัตโนมัติใช้ในหน่วยงานราชการให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเน้นที่ผลิตหรือลงทุนในประเทศเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศให้มีมากพอที่จะสามารถจูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุน

ล่าสุดมีบริษัท แองก้า ผู้ผลิตหุ่นยนต์จากออสเตรเลีย กำลังยื่นขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตทุกชนิด เกษตรแปรรูป การผลิตชิ้นส่วนจากพลาสติก ขึ้นรูปและการประกอบ สิ่งทอ

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทยเยอรมัน กล่าวว่า สถาบันฯ ตั้งเป้าหมายให้เอสเอ็มอีไทย นำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสถานประกอบการ 800 รายภายในปีหน้า ซึ่งในปี 2560 สถาบันฯ ได้ให้การส่งเสริมไปแล้ว 100 ราย ส่วนปีนี้คาดอยู่ที่ 200 ราย และปีหน้าคาดจะส่งเสริมเพิ่มได้อีก 500 ราย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอแล้ว 10 ราย วงเงินลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน