น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ปี 2560 หากไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เชื่อว่าการเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนภาคโรงแรมจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น โดยกระแสนักท่องเที่ยวจะหันมาท่องเที่ยวด้วยตัวเอง(เอฟไอที)มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้จะกระจุกตัวอยู่โรงแรมระดับใดระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเอฟไอทีกลุ่มนี้ก็จะกระจายไปแล้วแต่รสนิยม ความสามารถในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละราย เท่ากับว่า โรงแรมระดับใดก็ตาม มีโอกาสจะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้มากขึ้น ไม่ผูกขาดเหมือนกับการเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวเหมือนที่ผ่านมา

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ

แนวโน้มการท่องเที่ยวแบบเอฟไอทีจะเพิ่มมากขึ้น ตามเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ทำให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเที่ยวแบบเอฟไอที เพราะสามารถทำตามใจตัวเองได้ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องการเดินทาง ที่พัก หรือแม้แต่การจัดตารางกิจกรรมเที่ยวด้วยตัวเอง จากปัจจุบันสัดส่วนเอฟไอที กับนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัทนำเที่ยวจะมีสัดส่วนไม่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าประมาณปี2561 เป็นต้นไปจะเห็นสัดส่วนกลุ่มไอทีแตะที่ระดับ 60% และกลุ่มทัวร์เหลือประมาณ 40% ซึ่งจะเป็นผลดีกับภาคโรงแรมด้วย แม้การแข่งขันด้านการตลาดจะเข้มข้นมากขึ้น เพื่อนำเสนอสินค้าบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด การอัดแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ จะดุเดือดมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ทำให้สัดส่วนรายได้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากอาจไม่ต้องเสียค่าส่วนลดให้กับกลุ่มบริษัทนำเที่ยวเหมือนที่ผ่านมา

“กระแสท่องเที่ยวเอฟไอทีที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทางโรงแรมเองก็ต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการมากขึ้นด้วย พร้อมกับอัดแคมเปญการตลาดให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ เพราะสถานการณ์การท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ได้เน้นเที่ยวตามฤดูกาล แต่จะเที่ยวตามความสะดวก แม้ตลาดยุโรปอาจจะยังเที่ยวตามช่วงฤดูกาล แต่ก็เริ่มเห็นว่ามาท่องเที่ยวช่วงนอกฤดูกาลมากขึ้นเรื่อยๆ อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การทำให้โรงแรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือกรีน โฮเต็ล ซึ่งถือว่าจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ได้อย่างมาก โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ เผลอๆ อาจให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องราคาค่าห้องพักด้วย”น.ส.ศุภวรรณ กล่าว

นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวอีกว่าปกติตามโครงสร้างการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแล้ว ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายอันดับแรกจะหมดไปกับเรื่องที่พักประมาณ 26% รองลงมา 21.7% เป็นเรื่องการช้อปปิ้ง ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการต่างๆ ประมาณ20.8% ส่วนค่าอาหารและเครื่องดื่มจะอยู่ที่ 19.4% ต่างกับเมืองอื่นๆ อย่างกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมืองโอซาก้าและกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในเรื่องช้อปปิ้งสูงเป็นอันดับแรก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของค่าใช้จ่าย เท่ากับว่า หากปี 2560 ธุรกิจโรงแรมสามารถปรับขึ้นราคาห้องพักได้ ก็จะเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งทางสมาคมพยายามตั้งเป้าปรับขึ้นค่าห้องพักให้ได้ 5-10% แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน