นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.กำลังเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-64) โดยตั้งเป้าหมายสร้างรายได้และขยายโอกาสให้กับประชากรในกลุ่ม 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด จำนวน 27 ล้านคน ให้มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นคนละ 7,755 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 5,344 บาทต่อเดือน ภายหลังจากสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ 12 ซึ่งถ้าเป้นไปตามเป้าหมาย เชื่อว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยังช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนไทยได้

ขณะเดียวกันการยกระดับรายได้ของคนกลุ่มนี้ยังช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะให้มีรายได้เฉลี่ยคนละ 8,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือประมาณคนละ 23,917 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ยคนละ 5,000 – 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ตั้งเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือมีรายได้เฉลี่ยคนละ 12,735 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณคนละ 36,083 บาทต่อเดือน

นายปรเมธี กล่าวว่า ในกลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม และเป็นผู้รับจ้างในภาคเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และอีก 15.6% อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานทักษะต่ำ สอดคล้องกับระดับการศึกษาของประชากรในกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ขณะที่การกระจายตัวของประชากรกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรไปสู่จังหวัดดังกล่าว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สศช.ยังเฝ้าระวังกลุ่มประชากรในกลุ่ม 40% ที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มคนที่เกือบจนกว่า 5.6 ล้านคน หรือเป็นผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยคนละ 3,173 บาทต่อเดือน คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะตกไปเป็นกลุ่มคนยากจนที่ตอนนี้มีอยู่ 4.8 ล้านคน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยคนละ 2,644 บาทต่อเดือน ถ้าในช่วงของแผนพัฒนาฯนี้ เศรษฐกิจเกิดไม่ดีขึ้น ดังนั้นสศช.จึงต้องหาทางพัฒนา ทั้งสร้างโอกาส และรายได้ เพื่อยกระดับรายได้ของประชากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น”นายปรเมธี กล่าว

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนปัญหาดังกล่าว จะต้องเร่งขยายพื้นที่ในการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะพื้นที่ยากจน สร้างโอกาสเข้าถึงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกระจายการจัดบริการภาครัฐให้มีความครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดสวัสดิการ สนับสนุนการสร้างอาชีพ รายได้ และให้ความช่วยเหลือที่เชื่อมโยงการเพิ่มผลิตภาพ สร้างชุมชนเข้มแข็งให้เป็นพลังร่วมทางสังคมในการสนับสนุนการพัฒนาให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแล รวมทั้งแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเฉพาะคนจนเรื้อรังให้ได้รับสวัสดิการและหลุดจากภาวะความยากจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน