ครม. ทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2561/62 ตันละ 1,500 บาท เปลี่ยนให้เกษตรกรได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท และสถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ ได้ 500

รื้อจ่ายเงินฝากข้าวในยุ้งฉาง – พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 ตันละ 1,500 บาท ที่เดิมมีการแบ่งให้สถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการรับค่าฝากตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรเจ้าของข้าวตันละ 500 บาท เปลี่ยนเป็นให้เกษตรกรได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท และสถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ ได้รับค่าฝากเก็บตันละ 500 บาท เพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางตัวเองเพิ่มมากขึ้น

รื้อจ่ายเงินฝากข้าวในยุ้งฉาง

ทั้งนี้ เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉาง หรือสถานที่เก็บของตัวเองเท่านั้น พร้อมทั้งปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่าน หรือถุงบิ๊กแบ็ก และวางเรียงในยุ้งฉาง หรือสถานที่เก็บ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูง หรือไซโล ยกเว้นกรณีเทกอง จะต้องมีระบการระบายอากาศ เพื่อรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า เดิมการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้กำหนดค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ด้วยการให้ค่าเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท ซึ่งในกรณีของสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดสรรค่าฝากเก็บไม่น้อยกว่าตันละ 500 บาท จ่ายเพิ่มให้กับสมาชิกผู้ขายข้าวทุกราย โดยการเฉลี่ยคืนภายใน 7 วัน หลังจากสถาบันเกษตรกรได้รับค่าฝากเก็บรอบแรก พร้อมอนุญาตให้เช่าสถานที่เก็บได้ไม่เกิน 10,000 ตัน จากสถาบันเกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเอกชนที่มีความพร้อม ส่วนการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ยุ้งฉางที่ใช้เก็บรักษามีลักษณะยกพื้นสูง และมีลักษณะเทกอง

รื้อจ่ายเงินฝากข้าวในยุ้งฉาง

อย่างไรก็ตาม จากการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งมาตรการที่จะดำเนินการ และวิเคราะห์ความเสี่ยงร่วมกัน โดยที่ประชุมเห็นว่าการให้สถาบันเกษตรกรเช่ายุ้งฉาง หรือสถานที่เก็บข้าวเปลือกที่ไม่ใช่ของตนเอง มีความเสี่ยงเรื่องกำกับดูแลรักษาข้าวทั้งปริมาณและคุณภาพ และการดำเนินการดังกล่าวจะมีลักษณะใกล้เคียงโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา จนทำให้เกิดความเสียหายกับรัฐ

สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว ตั้งเป้าหมายรวบรวมปริมาณข้าวเปลือกให้ได้ 2 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ 1.6 ล้านตัน ข้าวเปลือกเหนียว 2 แสนตัน ข้าวเปลือกเจ้า 1 แสนตัน และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 แสนตัน ซึ่งธ.ก.ส. จะจ่ายเงินสินเชื่อเพื่อชะลอการขายผลผลิตให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน