กฤษฎา เล็งใช้อำนาจตามพรบ.เศรษฐกิจการเกษตร ประกาศโซนนิ่งยาง จนปัญญากิโลละ 60 บาทคงทำไม่ได้ ตั้งเป้าแค่ไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตแทน

เล็งโซนนิ่งยาง – นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการใช้อำนาจ ของคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีรมว.เกษตรฯ เป็นประธาน ตามพ.ร.บ. เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 มาตราที่ 5 ที่ให้คณะกรรมการดังกล่าวสามารถพิจารณากำหนดเขตพืชเศรษฐกิจหรือโซนนิ่งได้ เพื่อนำมาใช้กำหนดพื้นที่การปลูกพืชแต่ละชนิดตามพื้นที่เหมาะสม

โดยจะนำมาใช้กับเรื่องยางเป็นพืชแรก เนื่องจากปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศกว่า 14 จังหวัด จากอดีตที่ปลูกเฉพาะภาคใต้ ทำให้ผลผลิตสูงถึง 4.5 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ไทยส่งออกได้เพียง 3 ล้านตันเท่านั้น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านยังขยายพื้นที่ปลูกยางมากขึ้น ผลผลิตที่ได้เกินความต้องการของตลาด ในขณะที่การเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้ายังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มจากการควบคุมการผลิต ควรปลูกเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสม มีโฉนดถูกต้อง จำกัดปริมาณไม่ให้เกินความต้องการใช้ ส่วนยางที่อยู่ในพื้นที่ป่า กว่า 2 ล้านไร่ ต้องหารืออีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร จากมติเติมโค่นทิ้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นของชาวสวนยางที่มีรายได้น้อยไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ส่วนการบุกรุกป่าของนายทุนเพื่อปลูกยาง ก็อ้างว่าปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน นายกรัฐมนตรีจึงให้ชะลอมาตรการโค่นทิ้งไปก่อน

อย่างไรก็ตาม หากสามารถกำหนดเขตพืชเศรษฐกิจ จะทำให้กระทรวงเกษตรฯ เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มที่ ส่วนยางในพื้นที่อื่นที่ยังฝืนปลูกอยู่ จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอีกต่อไป

สำหรับราคายางที่ตกต่ำในช่วงนี้ เป็นผลมาจากราคายางในตลาดโลกปรับลดลงตามกลไกตลาดรับซื้อล่วงหน้า คาดว่าจะชะลอตัวไม่เกินเดือนก.ย.นี้เท่านั้น โดยเดือนต.ค.-พ.ย. ที่ยางออกสู่ตลาดน้อย จะส่งผลให้ราคาในตลาดปรับเพิ่มขึ้น กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นช่วงนี้จึงไม่มีมาตรการแทรกแซงราคา เพราะจะส่งผลให้กลไกราคาในอีก 2 เดือนข้างหน้าบิด

ส่วนยางที่ค้างสต๊อกอยู่ประมาณ 1 แสนตัน ซึ่งเป็นยางที่รับซื้อภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางในราคากิโลกรัมละ 80 บาท และโครงการมูลภัณท์กันชนและรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือ บัฟเฟอร์ฟันด์ อยู่ระหว่างหาแนวทางการนำไปใช้ จากเดิมที่หารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิง แต่ไม่ได้รับได้รับความเห็นชอบเพราะความร้อนที่ได้ต่ำไป แต่ยางจำนวนนี้จะไม่ระบายออกสู่ตลาดโดยเด็ดขาดเพราะจะส่งผลต่อราคายางในระบบ

“ยางในสต๊อกนี้ถ้าขายก็จะกระทบกับราคายางที่ต่ำอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบเรื่องการจัดเก็บมากถึงเดือนละ 20 ล้านบาท การทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เลยก็ลำบากเพราะเงินที่นำไปซื้อยางนั้นเป็นเงินภาษี ปัจจุบันราคายางอยู่ในระดับที่ก.ก.ละ 42 บาท ที่ผ่านมาผมตั้งใจจะทำให้เป็น ก.ก.ละ 60 บาท แต่ก็ทำไม่ได้อย่างที่พูดไป ถึงตอนนี้ขอให้ราคาปรับขึ้นในระดับที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต นี่คือเป้าหมายหลัก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน