กรมทรัพย์สินทางปัญญาหนุนจดสิทธิบัตรหุ่นยนต์หลังพบมีการจดสิทธิบัตรเพียง 0.06% ไม่สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ที่ในปี’65 ไทยจะมีอัตราการเกิดเป็นศูนย์ หรือเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

พาณิชย์ดันใช้หุ่นยนต์ดูแลคนแก่ – น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ในทศวรรษที่แล้วอัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุในไทยมีสูงมาก หมายความว่ามีคนวัยทำงานถึง 12 คน ที่ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในปี พ.ศ. 2578 ผู้สูงอายุไทยแต่ละคนจะมีคนวัยทำงานที่อาจจะช่วยในการดูแลค้ำจุน เพียง 2 คนเท่านั้น ในขณะที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 25% ของประชากร ทั้งหมด หรือมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว แต่ในปี พ.ศ. 2565 นั้น มีแนวโน้มว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจะเป็นศูนย์ และหลังจากนั้นอัตราการเพิ่มของประชากร จะติดลบ ทำให้ผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล

พาณิชย์ดันใช้หุ่นยนต์ดูแลคนแก่

กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงสนับสนุนให้มีการประยุกต์ใช้และพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ เพราะถึงแม้ไทยจะมีอัตราการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมากที่สุดในอาเซียน หรือมีสัดส่วนอยู่ที่ 19% แต่กลับมีการใช้หุ่นยนต์เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีการจดสิทธิบัตรเพียง 0.06% ของจำนวนสิทธิบัตรเกี่ยวกับหุ่นยนต์ทั้งหมด 160 ฉบับเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ประกอบกับไทยเองก็มีบุคคลากรที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ในระดับสูง การถสัมมนาครั้งนี้ จึงน่าช่วยให้สามารถนำข้อมูลไปปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจหรืองานวิจัย ตลอดจนนำไปใช้ต่อยอด และพัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอุปกรณ์ เครื่องมือ และหุ่นยนต์ทาง การแพทย์ เพื่อดูแลผู้สูงอายุได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานต่อไป

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (IP IDE X) เพื่อให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมอย่างครบวงจร โดยเฉพาะมีการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้ประกอบการ และนักวิจัย สร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยของประเทศ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และนักวิจัย ได้เข้ามาใช้บริการของศูนย์ IP IDE ซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0-2547-5026 หรือสายด่วน 1368 รวมทั้งจัดสัมมนาวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ หรือ Robotics for Aging Society มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาอย่างล้นหลามกว่า 170 คน ทั้งจากผู้ประกอบการในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ผู้ประกอบการเทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และหน่วยงานด้านการวิจัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน