ส.อ.ท. ชี้หน้าฝนฉุดความเชื่อมั่นอุตฯ ลด เผยผลสำรวจอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร อยู่ในระดับ 1.0-2.0 แต่ยังมีข่าวดียอดขายในปท.หนุนผลิตรถยนต์บวก

ความเชื่อมั่นอุตฯ วูบ – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. 2561 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.5 จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 93.2 เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาลในช่วงเดือนส.ค. มีฝนตกต่อเนื่อง เกิดเหตุน้ำท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในภูมิภาค ทำให้ยอดขายชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไม่คงทนและกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 105.6 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 104.5 สะท้อนผู้ประกอบการมีมุมมองอยู่ในระดับดี จากคำสั่งซื้อและการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปีเป็นปัจจัยสนับสนุน ขณะที่ผู้ประกอบการด้านส่งออกยังมีความกังวลต่อมาตรการภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐ และอยากให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทย

ด้านนายขัติยา ไกรกาญจน์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. ยังร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำรวจข้อมูลจากผู้ประกอบการ 1,500 กิจการ เพื่อประเมินศักยภาพผู้ประกอบการภาคการผลิต การค้า และบริการ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 61% มีอุตสาหกรรมอยู่ในระดับ 2.0 และ 3% อยู่ในระดับ 1.0 รวมแล้วมีผู้ประกอบการสัดส่วนสูงถึง 70% อยู่ในระดับ 1.0-2.0 สะท้อนความท้าทายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายยกระดับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใน 20 ปี

ส่วนอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับ 3.0 มีสัดส่วน 2% และมีเพียง 2% อยู่ในระดับ 4.0 ส่วนภาคการค้าและบริการ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 48% อยู่ในระดับ 1.0 อีก 45% อยู่ในระดับ 2.0 และมีเพียง 7% อยู่ในระดับ 3.0 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแผนยกระดับธุรกิจไทยส่วนใหญ่ไปสู่ระดับ 3.0 ภายในปี 2563 ก่อนจะก้าวไปสู่ระดับ 4.0 ในปี 2568 รวมทั้งตั้งเป้าหมายยกระดับภาคการเกษตรไปสู่สมาร์ตฟาร์มมิ่ง ก้าวเข้าสู่เกษตร 4.0 ในปี 2573 และประเทศไทยจะเข้าสู่ระดับ 4.0 ได้สมบูรณ์ในปี 2578

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า เศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจและเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยสนับสนุนการค้าส่งและค้าปลีกเติบโตขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น การส่งออกและนำเข้ายังขยายตัว และการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดผลักดันยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนส.ค. 2561 ขายได้ 86,780 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.7%

“ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์เดือนส.ค. 2561 ผลิตได้ 181,237 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.15% โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์นั่งผลิตได้ 41,663 คัน เพิ่มขึ้น 18.58% และรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศผลิตได้ 40,063 คัน เพิ่มขึ้น 1.69% ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค. 2561 ผลิตได้รวม 1,420,925 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.37%”

ในส่วนของการผลิตเพื่อส่งออกเดือนส.ค. 2561 ผลิตได้ 96,548 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.27% สอดคล้องกับยอดส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 102,513 คัน ลดลง 0.38% โดยเป็นการลดลงเกือบทุกตลาด และส่วนหนึ่งยอมรับว่าเป็นผลพวงจากเวียดนามมาตรการกีดกันรถยนต์นำเข้าจากไทย ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ไทยไปเวียดนามในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาลดลง 75% แม้ไทยจะมีส่วนแบ่งทางการตลาด 86% ของตลาดรถยนต์เวียดนามที่นำเข้ารวม 12,000 คัน เพราะเวียดนามตั้งเป้าหมายเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ในภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน