ครม.ไฟเขียวหนุนปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเป้า 2 ล้านไร่ – จูงใจให้กู้ดอกถูก 0.01% วงเงิน 2 พันบาท/ไร่ ฟุ้งได้เงินมากกว่า เกษตรฯประสานเอกชนรับซื้อ 8 บาท/ก.ก.

ไฟเขียวปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา – พล.ท.สรรเสริฐ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงบประมาณ 461.84 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยสนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการจูงใจโดยจะมีสินเชื่อให้เกษตรกรกู้ 2,000 บาท/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี เก็บจากเกษตรกร 0.01% ที่เหลือ 3.99% รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ธ.ก.ส. เป็นเวลา 6 เดือน

ทั้งนี้ การสนันสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะไม่อยากให้เกษตรกรฝากชีวิตไว้กับการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ไม่ให้ข้าวราคาตกต่ำ จึงส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศมีความต้องการสูงถึง 8 ล้านตัน ผลิตได้เพียง 4 ล้านตัน โดยร่วมมือกับเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้เข้ามารับซื้อในราคา 8 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) ในอัตราความชื้นไม่เกิน 14.5% การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครั้งนี้เป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จากเดิมเป็นให้เปล่า 2,000 บาท/ไร่ โดยรัฐใช้เงินสนับสนุนไปทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท

“รมว.เกษตรฯ ยืนยันว่า ถ้าเกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดจะมีกำไรดีกว่าปลูกข้าวแน่นอน เพราะหากเกษตรกรขายข้าวได้ตันละ 8,000 บาท จะได้กำไรต่อตันประมาณ 300 บาท แต่ถ้าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยขายที่ความชื้นไม่เกิน 14.5% ให้กับผู้ประกอบการที่จะซื้อในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท จะมีกำไรตันละ 2,000-3,000 บาท กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานกับทางผู้ประกอบการเอกชนให้รับซื้อในราคาดังกล่าวและได้รับการตอบรับแล้ว โดยจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาก่อนที่จะกำหนดว่าจะปลูกในพื้นที่ไหน จึงยืนยันได้ว่าข้าวโพดที่จะปลูกจะขายได้ทั้งหมด เกษตรกรจะมีพืชที่จะปลูกได้รายได้ดีกว่าปลูกข้าว และไม่ทำให้ปริมาณข้าวล้นตลาด ราคาข้าวก็จะไม่ตก”

พล.ท.สรรเสริฐ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ กระทรวงเกษตรฯ เสนอจะจ่ายค่าประกันภัยพืชผลทางการเกษตรให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในอัตรา 65 บาท/ไร่ เป็นเงิน 130 ล้านบาท แต่ ครม. เห็นว่าเรื่องนี้ให้ไปขอความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ความเห็นชอบในหลักการก่อน โดยจังหวัดที่สนับสนุให้ปลูกข้าวโพด ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน หรือในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่สามารถพัฒนาได้

สำหรับ 33 จังหวัดประกอบด้วย ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ ลำพูน น่าน นครสวรรค์ สุโขทัย ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ พิจิตร อุทัยธานี

ภาคอีสาน 15 จังหวัด โคราช ชัยภูมิ สุรินทร์ นครพนม บุรีรัมย์ หนองคาย สกลนคร ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี

ภาคกลาง จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สระบุรี และภาคตะวันออก ปราจีนบุรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน