พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า คสช.มีมติเห็นชอบออกคำสั่งหัวหน้า คสช.อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ มาตรา 44 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ (สถานีเตาปูน) เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถว่าจ้างผู้เดินรถได้ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 77/2559 เพื่อเจรจากับบริษัทเดิมซึ่งเดินรถอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้

“จึงต้องออกมาตรา44 แก้ไขปัญหา ส่วนเชื่อมต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-เตาปูน ช่วง 1 กิโลเมตร ที่ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ ยังขาดผู้เดินรถอยู่ โดยให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สามารถจ้างใครหรือบริษัทใดก็ได้ มาดำเนินการเดินรถในช่วงดังกล่าว ในลักษณะการจ้างที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพื่อดำเนินการเดินรถในช่วง 1 สถานี คือ ระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนคณะกรรมการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) รัฐเป็นผู้ว่าบริษัทให้มาลงทุน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด”

ยอดยุทธ บุญญาธิการ

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่ารฟม. จะว่าจ้างบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้เดินรถรายเดิม(สายสีม่วง)เดินรถชั่วคราว เตรียมแผนเร่งเจรจากับบีอีเอ็ม ซึ่งหากให้บีอีเอ็มเดินรถต่อมาอีก1สถานีการเดินรถก็จะครบตลอดเส้นทางพอดี ซึ่งจะถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด

หาก รฟม. ใช้วิธีการเปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่ และผู้ที่ชนะการประมูลไม่ใช่บีอีเอ็ม ก็ปัญหาขึ้น เพราะหากช่วง 1 สถานีมีการว่าจ้างผู้เดินรถรายเดินรถ จะถือว่าเป็นคู่สัญญารายใหม่ของ รฟม. ดังนั้นผู้ใช้บริการช่วง 1 สถานีจะต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่อีก ครั้ง ซึ่งหากจะเดินทางจากต้นทางมายังปลายทางที่บางซื่อจะต้องจ่ายค่าแรกเข้าถึง2ครั้ง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

“จะเร่งเจรจา ว่าจ้างกับบีอีเอ็ม ให้เร็วที่สุด วงเงินลงทุนและค่าจ้างเดินรถจะเป็นวงเงินเท่าเดิมที่เคยศึกษาไว้ คือเงิน ลงทุนติดตั้งอาณัตสัญญาณ 693 ล้านบาท และค่ารับจ้างเดินรถปีละ52ล้านบาท โดยรฟม.จะจัดเก็บค่าโดยสารเอง คาดสว่าจะเสนอผลการเจรา ให้บอร์ดรฟม. พิจารณาได้ในวันที่ 11 ม.ค. 60 จากนั้น เสนอให้ครม. พิจารณาอนุมัติเห็นชอบ เพื่อลงนามในสัญญาจ้าง และหลังจากนั้นอีก 6 เดือนวางระบบติดตั้งอาณัติสัญญาและทดลองเดินรถอีก2เดือน คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ ส.ค.-ก.ย. 60”พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวและว่ามีผู้ร้องคัดค้าน ว่าการที่ รฟม.เจรจากับรายเดิมเป็นการเอื้อประโยชน์ และผูกขาดของเอกชนรายเดียว ซึ่ง รฟม.ยังมองไม่เห็นวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ ยืนยันว่าเป็นการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เอกชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน