สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เตรียมยื่นอุทธรณ์สรรพากร เลือกเซเว่น คืนแวตนักท่องเที่ยว เมิน 5 จุดยุทธศาสตร์แหล่งช็อปปิ้ง มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด คิดเป็น 60%

ยื่นอุทธรณ์ให้เซเว่นคืนแวต – นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อกรมสรรพากรในกรณีผลการคัดเลือกให้บริษัท บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นตัวแทนในโครงการทดลองคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวในเมืองเพียงรายเดียว โดยให้บริการ 3 จุด คือ สาขาลิโด้, สาขาแบงค์ค๊อกไนท์บาร์ซาร์ และสาขา ผดุงด้าว (เยาวราช)

เมื่อเทียบกับที่สมาคมฯ และบริษัทร่วมทุนฯ ภายใต้ชื่อ บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้เสนอ 5 จุด ได้แก่ ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และสยามพารากอน

โดยทั้ง 5 จุดเป็นไปตามที่เคยเสนอกับกรมสรรพากรตั้งแต่แรกเริ่ม และมีการทดลองระบบกับกรมสรรพากรแล้วทั้ง 5 จุด สามารถรองรับและเอื้อต่อการบริหารจัดการโครงการดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ฟอร์ทัวร์ริสต์ให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี ประกอบกับทั้ง 5 แห่งเป็น จุดยุทธศาสตร์แหล่งช็อปปิ้ง ที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด คิดเป็น 60% ที่มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักท่องเที่ยว ซึ่งการออกใบกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) มีมากกว่า 900,000 ใบต่อปีในบริเวณ 5 จุดดังกล่าว และในปี 2560 มีมูลค่าการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 2,300 ล้านบาท

พร้อมกันนี้เพราะเป็นแหล่งที่มีร้านค้าจดทะเบียน Vat Refund for Tourists มากที่สุดตรงตามวัตถุประสงค์ของกรมสรรพากรจากโครงการนี้ ซึ่งช่วยลดความแออัดให้กับนักท่องเที่ยวในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สนามบินได้

“ไม่มีประเทศใดที่ตั้งจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่นักท่องเที่ยว ในร้านค้าขนาดเล็ก ทุกประเทศล้วนแล้วแต่กำหนดจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่นักท่องเที่ยว ไว้ในห้างสรรพสินค้า หรือในศูนย์การค้าทั้งนั้น เพราะว่าหาง่าย และสร้างความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้นเรามีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ แต่ต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการจากกรมสรรพกรก่อนว่าเราไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนเพราะอะไร แต่เบื้องต้นเงื่อนไขอื่นๆ เราผ่านหมด และเราเสนอไป 5 จุด และสงสัยว่าทำไมต้องกำหนดมีแค่ 3 จุด ซึ่งไม่ใช่ว่าร้านสะดวกซื้อไม่ดี แต่แค่คิดว่าการซุ่มตัวอย่างของทำเลดังกล่าวไม่ค่อยเหมาะสม ถ้าจะมีการยื่นอุทธรณ์ก็คงยืนยัน 5 ทำเลเหมือนเดิม คงต้องวอนภาครัฐให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง”

นายวรวุฒิ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ และภาพรวมการค้าปลีกไทย ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง โดยคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาทในช่วงโครงการการทดลอง 6 เดือน และหากประสบความสำเร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันตัวเลขการจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวในไทยนั้นไม่สูง เพราะราคาสินค้าที่แพงกว่าประเทศอื่นๆ ในขณะทีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามหากโครงการนี้ไม่เกิดขึ้น และไม่ถูกผลักดันอย่างแท้จริง ผู้ที่เสียหายคือประเทศ และผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน