แบงก์ชาติมึนจีนไม่เที่ยวไทยช่วงไฮซีซั่น จากเหตุเรือล่ม-โดนตบ ปลอบใจไม่ได้ยกเลิก แต่เลื่อนการเที่ยวออกไป ซึ่งจะไปส่งผลในปี’62 โดยคาดว่าจะมากถึง 40 ล้านคน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

จีนเมินเที่ยวไทย – นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวและต่อเนื่อง โดยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 4.4% และปี 2562 ขยายตัว 4.2% โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 9% ส่วนปี 2562 ขยายตัว 4.3% ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม 5% ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐและจีน

ขณะที่การส่งออกบริการในปี 2562 มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากากรชะลอการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวจีนมาจากปี 2561 อย่างไรก็ดี คาดว่านักท่องเที่ยวในปี 2561 ใกล้เคียงกับเดิมที่คาดไว้ที่ 38.3 ล้านคน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2561 ที่สูงจะช่วยชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ทั้งจากเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต รวมทั้งเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงกับท่องเที่ยวจีนที่สนามบิน ทำให้คาดว่าช่วงที่เหลือ 4 เดือนของปี (ต.ค.-ธ.ค.) ที่เป็นช่วงไฮซีซั่น นักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาขยายตัวเป็นบวก จากที่เดือนก.ค.ขยายตัว -0.9% และส.ค.ที่ -11.8%

“ธปท. ยังมองว่านักท่องเที่ยวจีนไม่ได้ยกเลิก แต่เลื่อนการเที่ยวออกไป ซึ่งจะไปส่งผลในปี 2562 โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะถึง 40 ล้านคน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากปัจจัยบวกทั้งความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น การเปิดเส้นทางบินในกลุ่มประเทศอาเซียนมาไทยเพิ่มขึ้น และความสามารถในการบริหารจัดการของสายการบินที่ส่งผลให้รองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น”นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าควรติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ในด้านเศรษฐกิจโลก จะต้องติดตามปัญหาสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น ซึ่งมีผลต่อธุรกิจและแรงงานไทยจากการย้ายตลาดของประเทศที่ได้รับผลกระทบมายังไทย ส่วนปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศ ต้องติดตามความเข้มแข็งด้านอุปสงค์ และการเบิกจ่ายภาครัฐที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเงินเฟ้อจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

นอกจากนี้ ในด้านตลาดเงินต้องติดตามภาวะตลาดเงินในตลาดโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นตามทิศทางการขึ้นดอกเบี้ย และความกังวลต่อสงครามการค้า ส่วนด้านเสถียรภาพระบบการเงินไทย ต้องติดตามการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน โดยยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ซึ่งพบว่าธนาคารบางแห่งมีการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 100% ขณะที่แนวโน้มสินเชื่อด้อยคุณภาพที่อยู่อาศัยก็มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน