นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ “เวิล์ด ฟูด วัลเลย์ ไทยแลนด์:World Food Valley Thailand” กล่าวในโอกาสพิธีลงนามความร่วมมือเปิดตัวโครงการระหว่างบริษัทร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ว่าบริษัทในฐานะผู้ผลิตและทำตลาดอาหารและเครื่องดื่ม เตรียมพัฒนาโครงการเวิล์ด ฟูด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหาร บนเนื้อที่รวมประมาณกว่า 2,000 ไร่ ที่จ.อ่างทอง เงินลงทุนกว่า 4,800 ล้านบาท แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนา 1,300 ไร่ และเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค/โครงสร้างพื้นฐานประมาณ 800 ไร่ พร้อมรองรับการลงทุนจากทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอี

นิคมอุตสาหกรรมอาหาร จ.อ่างทอง ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาธุรกิจ ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ สร้างเครือข่ายธุรกิจ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ผลิตอาหารไทยให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตครบวงจรแห่งแรกของไทยและเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคอาเซียน

“เบื้องต้นเรามี 8 บริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในเครือพร้อมลงทุน และมีผู้ประกอบการสนใจสอบถามข้อมูลเช่าพื้นที่ลงทุนแล้วกว่า 100 ราย โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น คาดการพัฒนาพื้นที่จะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี และเห็นผลการลงทุนชัดเจนภายใน 5 ปี โดยมั่นใจว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจที่เข้ามาลงทุน เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า มีการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ ได้รับการอำนวยความสะดวกเรื่องการขอใบอนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวจากหน่วยงานรัฐ และช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างความคุ้มค่าในการลงทุนได้แน่นอน”

02

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนและพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในโครงการเวิล์ด ฟูด วัลเลย์ ไทยแลนด์ คาดสร้างมูลค่าการลงทุนรวมได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอาหารได้อีก 1.5-2 หมื่นล้านบาท สามารถยกระดับสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกให้ได้ภายใน 20 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 14 สร้างรายได้ให้ประเทศในปี 2558 เป็นมูลค่า 897,529 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวเฉลี่ย 4% ส่งออกอาหารให้ได้ 8% ต่อปี

“กระทรวงตั้งเป้าลงทุนนิคมอุตสาหกรรมอาหารรวม 5 แห่ง ภายใน 5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังศึกษารายละเอียด ซึ่งมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในสาขาอาหารให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใหม่เป็นกำลังในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยในเวทีโลก คาดจะมีจำนวนกว่า 20,000 ราย”นางอรรชขกา กล่าวและว่า 2.ต้องเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพให้มีอัตราการขยายตัวให้ได้ 2% ต่อปี โดยการพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารแปรรูปไทยทั้งรสชาติ มาตรฐานตามที่ตลาดต่างๆ ต้องการ

และ3.การสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถค้าขาย ส่งออกได้บนพื้นฐานของสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มในตลาดเดิมและตลาดใหม่จนทำให้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 8% ต่อปี อีกทั้งควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์การทำงานว่า “ประชารัฐร่วมใจประเทศไทยเป็นครัวของโลก” และมีการวัดผลการทำงานจากส่วนแบ่งในตลาดโลกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน