‘กุลิศ’ ลุยเปิดตัวน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษบี 20 กับรถโดยสารสาธารณะ ขยายฐานผู้ใช้ ยันอุดหนุนมอ’ไซค์วินลิตรละ 3 บาท ทันธ.ค.นี้ ตามแผน

ใช้บี20เติมรถเมล์ – นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งเสริมให้ใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ หรือบี 20 ว่า วันที่ 26 ต.ค. 2561 กระทรวงพลังงานจะเปิดตัวน้ำมันดีเซล เกรดพิเศษ บี 20 ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการกำหนดใช้กับรถบรรทุก ของฟลีตรถที่เข้าร่วมกว่า 22 กลุ่ม มีผู้ค้ามาตรา 7 พร้อมร่วมจำหน่าย 5 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ซัสโก้ จำกัด และผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) น้ำมันของซัสโก้อีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มส่งเสริมให้ใช้บี 20 ช่วงเดือนก.ค. จนถึงปัจจุบัน บี 20 มียอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 7.7 ล้านลิตร แบ่งป็นช่วงเดือนก.ค. มียอดจำหน่าย 9.17 แสนลิตร เดือนส.ค. มียอดจำหน่าย 2.502 ล้านลิตร เดือนก.ย. มียอดจำหน่าย 3.475 ล้านลิตร และช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. มียอดจำหน่าย 8.09 แสนลิตร สะท้อนความต้องการใช้มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเป้าหมายการจำหน่ายของกระทรวงพลังงานอยู่ที่ 300 ล้านลิตรต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) หารือกับผู้ค้าน้ำมันและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลเป็นบี 7 พลัส จากปัจจุบันที่มีการจำหน่ายบี 7 (ที่มีส่วนผสมปาล์มบริสุทธิ์ 100% เป็นส่วนผสมในสัดส่วน 7% ของน้ำมันดีเซลทุกลิตร) เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ให้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

สำหรับความคืบหน้าการกำหนดแนวทางอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 3 บาทต่อลิตร สำหรับผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างสาธารณะ (วินมอเตอร์ไซค์) ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกและเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดเป็น 450 บาทต่อเดือนต่อคัน วงเงินช่วยเหลือประมาณ 540 ล้านบาทนั้น ขณะนี้กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างประสานกับกรมการขนส่งทางบก กรมบัญชีกลางตรวจสอบวินมอเตอร์ไซค์ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งยืนยันจะพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลบังคับใช้ช่วงเดือนธ.ค.นี้ ตามแผนที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างเร่งปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น 5 ปี (2562-66) โดยจะกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายและเป้าหมายให้มีความชัดเจน จัดลำดับความสำคัญและจำเป็นก่อนหลังสอดคล้องกับแผนน้ำมัน แผนไฟฟ้า แผนก๊าซ แผนพลังงานทดแทน เพื่อประกอบแผนงานของบประมาณตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป คาดจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อครหาว่านายกุลิศ เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในสมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง จะเอื้อประโยชน์ต่อการพิจารณาให้สิทธิเอกชนเข้าประมูลแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงเอราวัณและบงกชหรือไม่ ส่วนตัวขอชี้แจงว่าเมื่อครั้งกระทรวงการคลังเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนนั่งในปตท.สผ. สมัยนั้นก็ไม่ได้รู้มาก่อนว่าอนาคตจะต้องมารับตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน แต่พอรู้ตัวก็ได้ลาออกจากปตท.สผ. ทันที จึงยืนยันการหน้าที่ในบทบาทปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยและมีความโปร่งใสแน่นอน

ขณะเดียวกันในสมัยที่นายกุลิศ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรนั้น ยังเคยพิจารณากรณีบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด อ้างว่าการส่งน้ำมันให้บริษัทในเครือใช้เติมเครื่องจักรและสำรวจขุดเจาะน้ำมันบริเวณอ่าวไทยเป็นการซื้อขายน้ำมันในราชอาณาจักรจึงควรได้รับการยกเว้นภาษีหรือคืนภาษีในประเทศ แม้สุดท้ายกรมศุลกากรจะตีความให้เชฟรอนต้องเสียภาษีกว่า 3,000 ล้านบาท เพราะถือเป็นการซื้อขายข้ามแดน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าเจตนารมย์ของเชฟรอนครั้งนั้นอาจต้องการหลีกเลี่ยงภาษี จะมีผลต่อการคัดเลือกผู้ประมูลสิทธิสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมในแปลงเอราวัณและบงกชหรือไม่ ส่วนตัวไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาให้สิทธิสำรวจและผลิตฯ ซึ่งที่ผ่านมาเชฟรอนก็ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นไปแล้ว อีกทั้งเรื่องภาษีเชฟรอนก็ยุติลงแล้วเช่นกัน

ส่วนการพิจารณาการอนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานซึ่งปี 2562 ซึ่งมีการจัดสรรงบไว้จำนวน 10,448 ล้านบาท และปี 2561 มีการพิจารณางบเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนกลุ่มโครงการไทยนิยมยั่งยืน วงเงิน 5,200 ล้านบาทนั้น ขณะนี้มีความชัดเจนจากกรมบัญชีกลางแล้วว่างบเพิ่มเติมปี 2561 ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ไม่ต้องควบรวมกับปี 2561 โดยการพิจารณาโครงการในขั้นตอนสุดท้ายเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 26 ต.ค.นี้ โดยเกณฑ์การพิจารณาตนให้ยึดหลักโครงการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน มีงบบำรุงศึกษา ใช้เกณฑ์ของกรมบัญชีกลางที่เป็นการรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน