กรมเจ้าท่า จับมือ รฟม. เชื่อมเดินทางเรือ-รถไฟฟ้า นำร่อง 5 ท่า เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม “ล้อ ราง เรือ” แบบไร้รอยต่อ

เชื่อมเดินทางเรือ-รถไฟฟ้า – นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จท. เร่งพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือเพื่อเชื่อมโยงระบบโครงข่ายการคมนาคมทางน้ำ ให้สามารถเชื่อมต่อการขนส่ง “ล้อ ราง เรือ” แบบไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เบื้องต้นหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อเร่งดำเนินการเชื่อมการเดินทางจากเรือไปยังรถไฟฟ้า นำร่อง 5 ท่า ได้แก่ 1. ท่าเรือพระนั่งเกล้า (ฝั่งพระนคร) กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง 2. ท่าเรือพระราม 7 (ฝั่งตะวันตก) กับรถไฟฟ้าสายสีแดง 3. ท่าเรือบางโพ กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 4. ท่าเรือราชินี กับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน และ 5. ท่าเรือสาทร กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือเสร็จแล้ว 3 ท่า เหลือแค่ท่าเรือพระนั่งเกล้า และท่าเรือบางโพ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ ปี 2562 ยังได้รับจัดสรรจำนวน 40 ล้านบาท เพื่อปรับปรุง และพัฒนาท่าเรือโดยสาร เช่น ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ พื้นที่ทางลาด เป็นต้น เพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จํานวน 8 ท่า ประกอบด้วย ท่าเรือสาทร ท่าโอเรียลเต็ล ท่าสี่พระยา ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือดินแดง ท่าเรือราชินี ท่าเรือเทเวศร์ และท่าเรือท่านํ้านนทบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2563

รวมทั้งโครงการยกระดับท่าเรือโดยสารให้เป็นสถานีเรือ และปรับปรุงรูปแบบโป๊ะเทียบเรือให้มีความปลอดภัย และทันสมัย เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นสากล อํานวยความสะดวกสบายให้ประชาชน พร้อมรองรับผู้พิการและผู้สูงอายุมากขึ้น จํานวน 19 ท่า ดังนี้ 1. ท่าเรือปากเกร็ด 2. ท่าเรือพระนั่งเกล้า 3. ท่าเรือนนทบุรี 4. ท่าเรือพระรามห้า 5. ท่าเรือพระรามเจ็ด 6. ท่าเรือบางโพ 7. ท่าเรือเกียกกาย 8. ท่าเรือพายัพ 9. ท่าเรือสะพานกรุงธน 10. ท่าเรือเทเวศน์ 11. ท่าพระอาทิตย์ 12. ท่าเรือพระปิ่นเกล้า 13. ท่าเรือพรานนก 14. ท่าเรือท่าช้าง 15. ท่าเรือท่าเตียน 16. ท่าเรือราชินี 17. ท่าเรือราชวงศ์ 18. ท่าเรือสี่พระยา และ 19. ท่าเรือสาทร

โดยจะพัฒนาตั้งแต่อาคารผู้โดยสาร นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการบริการ เช่น เคาน์เตอร์ซื้อ-ขายตั๋ว ติดตั้งกล้องวงจรปิดในเรือ ติดตั้งเทคโนโลยีอํานวยความสะดวกให้ผู้โดยสารจัดช่องทางขึ้น-ลงท่าเรือ เตรียมพื้นที่พักคอยผู้โดยสาร ระบบเสียงประกาศ ระบบควบคุมความปลอดภัย ส่วนโป๊ะเทียบเรือจะปรับจากโครงสร้างเหล็กให้เป็นโครงสร้างโป๊ะ คอนกรีตกําลังอัดสูงที่สามารถรับแรงกระแทกจากเรือและลอยตัวด้วยโฟมชนิดพิเศษ พร้อมปรับระบบกันกระแทกจากเดิมแบบยางรถยนต์เป็นยางกันกระแทก (Rubber Fender)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน