พาณิชย์คาดปีการผลิต 61/62 ถือเป็นปีทองชาวนาไทย ราคาข้าวปีนี้สดใสคำสั่งซื้อต่อเนื่อง – ผลผลิตลดกว่า 20% จากปัญหาภัยแล้ง

ปีทองชาวนาไทยราคาข้าวสดใส – นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ปลายเดือนต.ค. 2561 โดยคาดการณ์แนวโน้มราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ยังคงมีราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมาทุกชนิดข้าว แม้ข้าวฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ อาทิ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบแอฟริกา โดยในปีนี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ปริมาณ 11 ล้านตันอย่างแน่นอน ประกอบกับสต๊อกข้าวของรัฐบาลเหลือในปริมาณที่น้อยมาก ส่งผลให้ปัจจัยลบที่เป็นตัวกดราคาข้าวในประเทศหมดไป

สำหรับข้าวหอมมะลิ พบว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิเกิดภัยแล้ง ส่งผลให้ในบางพื้นที่ผลผลิตข้าวเปลือกคาดการณ์ว่าจะเสียหายมากกว่า 20% โดยราคาข้าว ความชื้น 15% ณ วันที่ 1 พ.ย. 2561 ข้าวเจ้า 5% ปรับตัวสูงขึ้นจาก 7,300-7,800 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 7,500-7,900 บาท/ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาจะไม่ปรับลดลงไปกว่านี้แล้ว ในส่วนข้าวหอมมะลิ ราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก 11,550-14,550 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 14,450-17,500 บาท/ตัน (เกี่ยวสด 13,500-14,200) และจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในแหล่งเพาะปลูกสำคัญ

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รัฐบาลมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพด้านการตลาดโดยการดึงอุปทานออกสู่ตลาด 3 โครงการตั้งแต่เดือนพ.ย. ได้แก่ 1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีฝากเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง และตันละ 1,000 บาท กรณีฝากเก็บไว้ที่สหกรณ์ และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาครัวเรือนละ 6,000 บาท 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายข้าวเปลือกมากขึ้นและทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ในพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการรับซื้อน้อย ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดจัดตลาดนัดข้าวเปลือก โดยนำผู้ประกอบการจากพื้นที่อื่นหรือนอกจังหวัดเข้ามาร่วมรับซื้อเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ในการซื้อขาย รวมทั้งได้รับความเป็นธรรมในการชั่งน้ำหนักและวัดความชื้นด้วย

ดังนั้น ในปีการผลิต 2561/62 เกษตรกรมั่นใจได้ว่าข้าวจะมีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตข้าวได้รับการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลง จึงถือเป็นปีทองของพี่น้องชาวนาอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน