คลังรับมือสังคมสูง ปี’62 ตั้งงบดูแลสุขภาพประชาชนทั้งระบบ 4.29 แสนล้าน เร่งหาทางลดภาระ เล็งแจกนาฬิกาตรวจการออกกำลังกาย เดินได้วันละ 1 หมื่นก้าวก็สามารถมารับเงินจากรัฐบาลได้

งบดูแลสุขภาพปชช.พุ่ง – นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีการตั้งงบประมาณเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งระบบ 4.29 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 14.3% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้สูงอายุถึง 10% และจะเพิ่มขึ้นเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ภาระการคลังของประเทศสูงตามขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี พ.ร.บ. วินัยการคลังวินัยการเงินการคลังของรัฐปี 2561 ที่ต้องดูมีการวางแผนกาคลังระยะยาว เรื่องภาระงบประมาณเพื่อดูแลสังคมผู้สูงอายุก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อให้วินัยการเงินการคลังของประเทศไม่มีปัญหา

สำหรับแผนการลดภาระงบประมาณทางการคลังในอนาคตประกอบด้วย 4 แนวทาง โดยแนวทางที่ 1. ต้องเร่งสร้างบุคลากรดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์และพยาบาลดูแลเป็นภาระเพิ่มขึ้น และได้นำเวลาดังกล่าวไปช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นมากกว่า 2. รัฐบาลต้องเร่งให้ความรู้กับประชาชน ในการดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเบื้องต้นให้ดี โดยรัฐบาลจะใช้ช่องทางของอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ส่งข้อมูลหรือคลิปวีดีโอในการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นที่จำเป็น ให้ชาวบ้านได้ดูและปฏิบัติตาม

แนวทางที่ 3. รัฐบาลต้องพิจารณาให้แรงจูงใจกับประชาชนที่ดูแลสุขภาพตัวเองได้ดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อที่จะไม่เจ็บป่วยง่ายและไม่ต้องมารักษาพยาบาลทำให้รัฐบาลมีภาระรายจ่าย ซึ่งมีตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ที่ดีมาก โดยมีการแจกนาฬิกาตรวจการออกกำลังกาย เช่น หากสามารถเดินได้วันละ 1 หมื่นก้าว ก็สามารถมารับเงินจากรัฐบาลได้ เป็นต้น และ 4. การร่วมลงทุนรัฐกับเอกชน ในการศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบครบวงจร ซึ่งมีสถานพยาบาล 7-8 แห่งสนใจที่จะทำพีพีพีมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท โดยทางสำนักงานคณะกรรมการนโบบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กังลังพิจารณารายละเอียดโคงการ ทำให้ช่วยลดภาระงบประมาณได้อีกช่องทางหนึ่ง

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพประชาชน และเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุถือว่ามีการดำเนินการให้ดีขึ้นมาตลอด ให้ครอบคลุมทุกคน มีการให้บริการเรื่องการป้องกัน รวมถึงการรักษา โดยให้มีความยั่งยืนทางการคลัง ขณะนี้การดูแลผู้สูงอายุของไทยมี 3 ส่วน 1. ข้าราชการรวมถึงบุคคลในครอบครัวที่เกี่ยวข้องโดยตรง 4 ล้านคน 2. ระบบประกันสังคม 12 ล้านคน และ 3. ผู้ที่อยู่ในระบบบัตรทองรักษา 30 บาท อีก 48 ล้านคน ซึ่งครอบคลุมคน 97.5% ของคนทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีรายจ่ายดูแลรักษากับคนต่างสัญชาติที่อยู่ชายขอบของประเทศอีกปีละ 5 แสนคน เป็นค่าใช้จ่ายปีละ 1,300 ล้านบาท โดยภาระการคลังโดยรวมอยู่ที่ปีละ 13-14% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด หรือ 2.5% ของจีดีพี เป็นภาระที่เอกชนต้องจ่าย 23% และรัฐบาลต้องจ่าย 77% ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สัดส่วนจะอยู่อย่างละ 50%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน