ฟุ้งแก้หนี้เกษตรกรคืบ ‘กฤษฎา’ เสนอนายกฯ รอส่งต่อคณะกรรมการชุดใหม่ ยันทำตามสตง.-ธปท.แนะ ไม่ให้ซ้ำรอยกรณีจำนำข้าวที่เป็นปัญหาในอดีต

ฟุ้งแก้หนี้เกษตรกรคืบ – นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ว่า ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการ ของคณะกรรมการกองทุนฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2561 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเร่งด่วนของเกษตรกร กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกรณีจำนำข้าวที่เป็นปัญหาในอดีต

“การแก้หนี้เกษตรกร ขณะนี้ถือว่าคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ที่มีตนเป็นประธาน ดำเนินงานมาจนมีความคืบหน้าแล้ว ดังนั้นจากนี้จะดำรงตำแหน่งเพียงเป็นรักษาการประธานฯ ไปก่อนจนกว่า จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาสานต่องานนี้”

นายกฤษฎา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วน คณะกรรมการฯ เฉพาะกิจ ได้รับแจ้งว่ามีเกษตรกรสมาชิก จำนวน 7,930 ราย ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเจ้าหนี้ดำเนินการทางกฎหมาย มีความประสงค์ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งตรวจสอบข้อมูล พบว่าต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน จำนวน 4,643 ราย ได้มอบหมายให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเจรจากับสถาบันเจ้าหนี้ชะลอการดำเนินการได้ 2,299 ราย เจ้าหนี้ยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป 444 ราย ชำระหนี้ด้วยตนเองแล้ว 158 ราย ส่วนที่เหลืออีก 1,742 ราย ไม่เข้าสู่กระบวนการเจรจา

ส่วนการกําหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร แบ่งได้ดังนี้ 1. กรณีเกษตรกรมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ปี 2560 ได้อนุมัติให้กองทุนฟื้นฟูฯ จัดการหนี้ให้กับเกษตรกร จำนวน 1,518 ราย หนี้รวม 642.54 ล้านบาท 2. กรณีขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์จัดการหนี้ปี 2560 ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา แบ่งได้ดังนี้คือ ลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 36,605 ราย วงเงินที่เป็นหนี้ 6,382.67 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงค้าง อีก 3,829.38 ล้านบาท ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินงานแล้วเมื่อ 2 ต.ค.561

โดย ธ.ก.ส. จะทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยพักชาระเงินต้นให้ 50% และพักดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน ให้เกษตรกรทำสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินต้น 50% ตามเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี อัตราดอกเบี้ย MRR.-3 เมื่อเกษตรกรผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่เรียบร้อยแล้ว ดอกเบี้ยที่พักไว้ ธ.ก.ส. จะพิจารณายกให้เกษตรกร ส่วนเงินต้นที่เหลืออีก 50% ให้นำมาปรับโครงสร้างใหม่ ภายใต้ดุลพินิจของเจ้าหนี้ที่จะพิจารณาศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย โดยใช้หลักการที่เป็นธรรมและไม่มีผลกระทบต่อภาระของเกษตรกร

สำหรับลูกหนี้ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) จำนวน 2,389 ราย วงเงินเป็นหนี้ 630.59 ล้านบาท ได้เจรจากับผู้บริหารธนาคารทั้ง 2 เพื่อพิจารณานาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ ธ.ก.ส. จะดำเนินการ ตามมติ ครม. เมื่อ 2 ต.ค. มาใช้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างที่คณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมธนาคารไทย จานวน 573 ราย วงเงินเป็นหนี้ 383.45 ล้านบาท เจรจากับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารที่เป็นสมาชิก ได้รับการยืนยันว่ายินดีลดหนี้โดยให้เกษตรกรลูกหนี้ชำระเพียง 50% ของเงินต้นคงค้างเพียงครั้งเดียว ภายใน 30 มิ.ย. 2562 หากเกษตรกรรายใดที่ยังไม่พร้อมที่จะชำระในคราวเดียว กระทรวงเกษตรฯ มีหนังสือแจ้งเพื่อให้เกษตรกรไปติดต่อขอกู้เงิน จากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การกากับดูแล ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวข้างต้นต่อไป

สำหรับ ลูกหนี้สหกรณ์การเกษตร จำนวน 15,973 ราย วงเงินเป็นหนี้ 2,345.01 ล้านบาท เจรจากับสหกรณ์เจ้าหนี้ ปรากฏว่ามีสหกรณ์ที่ยินยอมให้กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทน 238 สหกรณ์ สมาชิก 1,398 ราย วงเงินเป็นหนี้ 599.10 ล้านบาท ขอให้สหกรณ์ช่วยเหลือสมาชิก เช่น การลด ดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาการผ่อนชาระ หรือชะลอการดำเนินการทางกฎหมายต่างๆ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะช่วยสหกรณ์ ที่ได้ช่วยเหลือสมาชิก ด้วยการสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ด้านต่างๆ เช่น สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับสหกรณ์ การสนับสนุนเพื่อให้สหกรณ์มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เป็นต้น ส่วนลูกหนี้ของนิติบุคคลอื่น ได้มีการเจรจาโดยนิติบุคคลดังกล่าวขอให้ลูกหนี้ติดต่อโดยตรง เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

สำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรคณะกรรมการฯ เฉพาะกิจ มอบหมายให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณาดำเนินการฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในครัวเรือนและชำระหนี้ นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนา เกษตรกรให้กับองค์กรเกษตรกร จำนวน 665 โครงการ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 10,659 ราย วงเงิน 67.03 ล้านบาท และจัดทำโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 จำนวน 1,114 โครงการ เกษตรกรได้รับการฟื้นฟู จำนวน 17,532 ราย วงเงินช่วยเหลือ 33.38 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน