บีทีเอส-ซีพี ชิงดำไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน ด้านซีพี ยื่นข้อเสนอพิเศษให้ผู้พิการขึ้นฟรีตลอดชีพถ้าชนะประมูล ด้านบีทีเอสมั่นใจเต็ม 100%

บีทีเอส-ซีพี ชิงดำไฮสปีดเทรน – นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันที่ 12 พ.ย. 2561 รฟท. เปิดให้เอกชนยื่นเอกสารประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา วงเงินลงทุนรวม 2.2 แสนล้านบาท ตั้งแต่เวลา 09:00-15:00 น. ปรากฎว่ามีเอกชนสนใจยื่นสองเข้าร่วมประมูล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบริษัทบีทีเอสและกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

โดยในวันที่ 13 พ.ย. การรถไฟฯ จะเปิดซองคุณสมบัติ คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และเปิดซองเทคนิคคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 3 สัปดาห์ จากนั้นจึงจะเปิดซองราคาเป็นซองสุดท้ายซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเชิญเอกชนเข้าทั้ง 2 ราย เข้ามาต่อรองราคาคาดว่า ใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเสนอร่างสัญญาให้อัยการพิจารณาใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติรายชื่อผู้ชนะการประมูลได้ประมาณกลางเดือนม.ค.ปี 2562 และลงนามในสัญญาผู้ชนะการประมูลไม่เกิน 31 ม.ค 2562

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลจพิจารณาเอกชนที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุดเป็นสำคัญ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวภายหลังเดินทางเข้ายื่นซองประมูล ว่า ซีพีเข้าร่วมกับ 4 ผู้ถือหุ้นหลักในการเข้าร่วมยื่อซองราคาประมูลครั้งนี้ โดยซีพี ถือหุ้น 70% ส่วนบริษัท China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ถือหุ้น 10% , บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (ประเทศไทย) หรือบีอีเอ็ม และบมจ. ช.การช่าง (ประเทศไทย) ถือหุ้นรวมกัน 15% และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (ประเทศไทย) ถือหุ้น 5%

ซีพียื่นซอง

ทั้งนี้ ซีพี มั่นใจจะเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ โดยบริษัทมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์หลักของประเทศคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับพื้นที่อีอีซีตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ บริษัท ยังมีการยื่นข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติม โดยแสดงจุดยืนที่จะสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการพัฒนาชีวิตคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยโดยหากบริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนี้บริษัทจะให้สิทธ์ผู้พิการได้ใช้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงฟรีตลอดชีพด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทมีการพูดคุยกับกลุ่มพันธมิตรอีกหลายกลุ่มที่จะเข้ามาร่วมทุนในอนาคต โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ของญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนเงินกู้ให้บริษัท และยังมีอีกหลายกลุ่มที่จะเข้าร่วมอาทิ CITIC Group Corporation(สาธารณรัฐประชาชนจีน) China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) Siemen (ประเทศเยอรมัน) Hyundai (ประเทศเกาหลี) Ferrovie dello Stato Italiane (ประเทศอิตาลี) CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน

“หากซีพี ชนะการประมูลครั้งนี้ สามารถที่จะเจรจาหากลุ่มพันธมิตรมาร่วมทุนเพิ่มเติมได้ โดยต้องขออนุญาตจากรถไฟฯ แต่มีเงื่อนไขว่าซีพีจะต้องถือหุ้นหลักไม่ต่ำกว่า 26%”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด ผู้อำนวยการใหญ่ ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผยว่า ได้ยื่นประมูลร่วมกีบผู้ถือหุ้นหลัก 3 รายคือโดยบีทีเอส ถือหุ้น 60% บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH รายละ 20%

บีทีเอสยื่นซอง

ทั้งนี้ มีความมั่นใจเต็ม 100 ที่จะชนะการประมูลในการยื่นซอง เนื่องจากบริษัทมีหุ้นส่วนเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ชั้นนำ คือบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ซึ่งมีประสบการณ์ในการก่อสร้างรวมทั้งบีเอ็มก็มีประสบการณ์ในการเดินรถมายาวนาน

ทั้งนี้ หากบริษัทชนะการประมูลมีการเจรจาหาเพื่อร่วมมือกับพันธมิตรเพิ่มเติมอีกหลายกลุ่ม ส่วนระบบรถที่บริษัทที่นำเสนอในการประมูลครั้งนี้มีหลายโมเดลจากผู้ผลิตรวม 4 ชาติทั้งเอเชียและยุโรป

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิ โน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจในเรื่องการก่อสร้างมากโดยแม้ว่าจะมีระยะเวลาก่อสร้างจำกัดแค่ 5 ปีที่จะต้องมีการก่อสร้างรางระยะทางยาวกว่า 100 กิโลเมตร แต่บริษัทมั่นใจว่าทำได้เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีชมพูและสีเหลืองมีระยะเวลาก่อสร้างเพียง 3 ปีบริษัทก็สามารถดำเนินการได้ คาดว่าในโครงการนี้การก่อสร้างคงไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทได้เจรจากับผู้รับเหมารายกลางไว้หลายบริษัทแล้วเพื่อให้เข้ามารับงานให้งานก่อสร้างเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 พ.ย.261 การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดให้เอกชนเข้ายื่นซองประมูลโครงการรถไฟฟ้สความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันตั้งแต่เวลา 09.30-15.00 น. โดยกลุ่มบีทีเอสเข้ามายื่นเอกสารเป็นรายแรกเทื่อเวลา 11.11 น. ต่อมาในเวลา ประมาณ 14.03 น. นายนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำทีมมายื่นเอกสารด้วยตนเองที่สำนักบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า มักกะสัน

สำหรับการยื่นซองแระมูลครั้งนี้ รฟท. กำหนดให้เอกชนจะต้องยื่นเอกสาร 5 รายการดังนี้ 1. เอกสารเปิดผนึก 1 ชุด แสดงคุณสมบัติของบริษัทตามเงื่อนไขทีโออาร์ 2. เอกสารปิดผนึกข้อเสนอทั่วไป (ด้านคุณสมบัติ) โดยเอกชนต้องผ่านข้อเสนอซองที่ 1 ก่อน จึงได้เปิดข้อเสนอซองที่ 2

3. เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยเอกชนต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของข้อเสนอซองที่ 2 ก่อน จึงได้เปิดข้อเสนอซองที่ 3

4. เอกสารข้อเสนอด้านราคา เอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากรัฐบาลน้อยที่สุด จากวงเงินเต็ม 1.19 แสนล้านบาท จะเป็นผู้ชนะการประมูล ด้านการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์จะเป็นไปตามราคาที่กำหนดไว้แล้ว ไม่มียื่นข้อเสนอหรือต่อรองแต่อย่างใด และ 5. เอกสารข้อเสนด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ไม่มีผลกระทบต่อการแพ้-ชนะในการประมูล

สำหรับโครงการดังกล่าวมีวงเงินการพัฒนารวม 224,544.36 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 168,718 ล้านบาท, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,155.27 ล้นบาท และสิทธิการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูลจะได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี ประกอบด้วยระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง 5 ปี และระยะเวลาการดำเนินการ 45 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน