คลังชงช็อปช่วยชาติเข้าครม.สัปดาห์หน้า เอกชนหนุนซื้อสินค้าเอสเอ็มอี กระตุ้นกำลังซื้อต่างจังหวัด ส่วนธพว. จ่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเอสเอ็มอี-กลุ่มคนตัวเล็ก เป็นของขวัญปีใหม่

ชงช็อปช่วยชาติเข้าครม.นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติมาตรการช็อปช่วยชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศได้ภายในวันที่ 4 ธ.ค. 2561 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดของมาตรการอยู่ ซึ่งแนวทางการจัดทำมาตรการจะแตกต่างจากปีก่อน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มาตรการช็อปช่วยชาติที่รัฐบาลเตรียมนำออกมาใช้นั้น ควรให้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และประชาชนในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม และสินค้าเกษตรเป็นหลัก

“หากพิจารณาจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เริ่มเดินหน้าไปได้ ดังนั้นการผลักดันมาตรการช้อปช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อควรให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มประชาชนในต่างจังหวัด และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากให้สามารถเข้าถึงมาตรการด้วย เพราะมองว่าผู้ประกอบการในเมือง ไปจนถึงหัวเมืองหลักๆ ยังมีความสามารถในการประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งอาจจะต่างจากผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ดังนั้นจึงอยากเสนอว่ามาตรการช็อปช่วยชาติที่จะออกมาครั้งนี้ ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์ไปด้วย” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ โดยยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่จะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้าอย่างแน่นอน

โดยหลักการเบื้องต้นของมาตรการที่เตรียมจะมอบเป็นของขวัญปีใหม่นั้น โดยจะเป็นมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่ได้มีการลงทะเบียนประมาณ 2 ล้านกว่าราย และผู้ประกอบการในกลุ่มคนตัวเล็ก ให้สามารถเดินหน้าธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล้มแล้วลุก และสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งมาตรการที่เตรียมจะออกมานี้จะเป็นมาตรการถาวร ไม่ใช่ชั่วคราว และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการได้รับความช่วยเหลืออยู่แล้ว

“ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่ได้ลงทะเบียนกว่า 2 ล้านรายนั้น มีทั้งผู้ประกอบการอิสระ ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้าในตลาด กลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ กลุ่มที่ไม่มีสวัสดิการ ซึ่งรวมไปถึงผู้ประกอบการแท็กซี่ด้วย แต่รายละเอียดของมาตรการขอยังไม่ตอบตอนนี้ เพราะต้องรอความชัดเจนทั้งหมดก่อน” นายมงคล กล่าว

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีรายงานจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ธพว. เตรียมจะออกโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการแท็กซี่ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เฉลี่ยภาระค่าผ่อนเพียงวันละ 300 บาท มีระยะเวลา 7 ปี ซึ่งถูกกว่าค่าเช่าแท็กซี่ที่ต้องจ่ายในการเช่ารถแบบรายวันตกวันละ 700-800 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าแท็กซี่ที่เข้าโครงการจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น ไม่มีการปฎิเสธลูกค้า

ซึ่งจะมีเครื่องมือตรวจสอบ และหากตรวจสอบพบว่ามีการปฎิเสธลูกค้าก็จะให้ออกจากโครงการทันที เบื้องต้นกำหนดเป้าหมายเป็นแท็กซี่ที่ทะเบียนจะหมดอายุ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1 หมื่นคัน สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอสินเชื่อในโครงการนี้ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ภายใน 1-2 เดือนหลังจากที่กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน