สศก. ระบุ ต.ค. ดัชนีราราคาสินค้าเกษตรยังลด 0.37% จากยางพารา-ปาล์มน้ำ-ไก่เนื้อ ขณะดัชนีผลผลิตเพิ่ม 4.25% ดันดัชนีรายได้เกษตรกรพุ่ง 3.86%

ยาง-ปาล์ม-ไก่ ราคาร่วง – น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือน ต.ค. 2561 อยู่ที่ ระดับ 126.79 ลดลง 0.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากมีการชะลอซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเศรษฐกิจหลัก ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะการค้าในประเทศและการส่งออกชะลอตัว ไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะการค้าชะลอตัวจากสถานศึกษาปิดภาคเรียนและอยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ

แต่ยังมีสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์มีความต้องการและแข่งกันรับซื้อ และสุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากการที่ภาคเอกชนและเกษตรกรรายย่อยลดปริมาณการผลิต

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร อยู่ที่ 133.89 เพิ่มขึ้น 4.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ลองกอง ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ และสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรด สุกร และไข่ไก่

ทั้งหมดส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรอยู่ที่ 169.75 เพิ่มขึ้น 3.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนพ.ย. 2561 คาดว่า จะเพิ่มขึ้น 2.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวที่เพิ่มขึ้น 2.36% โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง 0.09% ซึ่งสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่

ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนพ.ย. ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตมาก ส่งผลให้ผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากผลผลิตจะออกสู่ตลาดตามฤดูกาล รวมทั้ง ข้าวเปลือก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต

อย่างไรก็ตาม เดือนธ.ค. 2561 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกรจะทรงตัว โดยดัชนีราคามีแนวโน้มลดลง ขณะที่ดัชนีผลผลิต คาดว่าจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน