นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “วิเคราะห์เศรษฐกิจปี 2560 สู่การเดินหน้าตามนโยบายประเทศไทย 4.0.” ในงานสัมมนา ซีพี ออลล์-พีไอเอ็ม เอสเอ็มอี ฟอรั่ม 2017 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น จากขณะนี้มีสัญญาณที่ดี จากภาคส่งออกที่ปรับตัวเป็นบวก และทั้งปีน่าจะเติบโตได้ 1.5-2% ในขณะที่การลงทุนจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จะเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท จากปีที่แล้ว 5 แสนล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่าสินค้าส่งออกของไทยยังเป็นสินค้าแบบเดิม เป็นสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมาก ซึ่งมักผันผวนตามตลาดโลก

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออกให้ไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี สามารถสร้างสรรสิ่งใหม่ๆ และสามารถเข้าสู่ตลาดได้โดยตรง และสามารถเชื่อมต่อกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ ซึ่งรัฐบาลเน้นการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออกลง ช่วยให้โครงสร้างเศรษฐกิจจะสมดุลขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่เอสเอ็มอีเข้มแข็งขึ้นผ่านการช่วยเหลือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และการเพิ่มผลิตภาพ

สำหรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป็นการพัฒนาในหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และคน ในส่วนอุตสาหกรรม 4.0 เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการพัฒนาผู้ประกอบการ และกระทรวงอุตสาหกรรมเน้นการพัฒนาเอสเอ็มอี โดยสัปดาห์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประสานไปยังคณะทำงาน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ที่ทำงานมาแล้วก่อนหน้านี้ นำแนวความคิดรวมยอดที่ได้ขึ้นมาจัดทำแผนปฏิบัติการในช่วง 5 ปีข้างหน้า และให้เริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการ จะเริ่มตั้งแต่กลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ประกอบการเดิม และกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องได้รับการฟื้นฟู โดยจะช่วยเหลือทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะ ข้อมูลและความช่วยเหลือทางการเงิน โดยมีกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ ภายใต้กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งกองทุนจะพร้อมขับเคลื่อนภายใน 2 เดือน ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับหอการค้าไทย สถาบันการศึกษา เพื่อสร้างเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ยังมีวงเงินอีก 10,000 ล้านบาท สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิมให้ยกระดับสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ซึ่งเงินช่วยเหลือส่วนนี้อยู่ในความดูแลของบีโอไอและยังเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ได้แก่ ศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน ชิ้นส่วนอากาศยาน เศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนต่อยอดไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งโครงการลงทุนเหล่านี้ต้องดำเนินการให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ร่วมกันหรือ Inclusive Growth และเป็นการเติบโตเชิงคุณภาพไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน