เกษตรฯ ส่งมอบคูปองลดหย่อนภาษียางล้อ ในโครงการ “ช็อป ช่วย ชาติ“ ให้ 5 บริษัทผู้ผลิตยาง กว่า 200,000 คูปอง แจกจ่ายผู้เข้าร่วมโครงการผ่าน 1,000 ร้านค้า หนุนใช้ยางในประเทศดันราคายางสูงขึ้น ชี้บริษัทยางล้อต่างชาติยังสนใจร่วมโครงการ

เกษตรฯ มอบคูปองลดหย่อนภาษี – นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มาตรการ ช็อป ช่วย ชาติ ของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค. 2562 มีสินค้าเข้าร่วม 3 ประเภท ได้แก่ หนังสือ สินค้าโอท็อป และยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย โดยประชาชนที่ซื้อสินค้าดังกล่าวสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาทนั้น ในส่วนของยางรถยนต์ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ขณะนี้มีภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการยาง ตกลงซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท. เพื่อนำไปผลิตล้อยางแล้วจำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัทบริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีสโตน จำกัด และบริษัท ยางโอตานิ จำกัด

สำหรับคูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ คูปองสำหรับยางล้อรถยนต์ ประเภท 4 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 100 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน และคูปองสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์หรือรถจักรยาน ประเภทรถ 2 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 500 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 5 บริษัท ได้ซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางกยท. แล้วกว่า 2,000 ตัน หรือ 2 ล้านกิโลกรัม (ก.ก.) และกยท. ได้มอบคูปองลดหย่อนภาษีไปให้ผู้ประกอบการเหล่านี้แล้วกว่า 200,000 ใบ เพื่อให้แต่ละบริษัทนำคูปองไปกระจายต่อให้ร้านค้าที่จำหน่ายยางและตัวแทนของบริษัทจำนวนกว่า 1,000 ร้านค้าที่ร่วมโครงการ

“สำหรับการซื้อยางรถยนต์จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ และคูปองที่ กยท. ออกให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีในปีที่ซื้อ ซึ่งหากซื้อช่วงปีไหนก็จะหักลดหย่อนภาษีในปีนั้น ในวงเงินไม่เกินคนละ 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค. 2562 รวมระยะเวลา 1 เดือน อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลเริ่มโครงการใช้ยางในประเทศ อาทิ ใช้ยางพาราทำถนนหมู่บ้าน 1 กิโลเมตร (ก.ม.) เป็นต้น ราคายางพาราก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 20-50 สตางค์ ดังนั้นหลังปีใหม่จึงจะหารือกับกยท. อีกครั้ง เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากกว่านี้”

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีบริษัทผู้ผลิตล้อยางต่างชาติ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ อาทิ บริษัท วีรับเบอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท โยโกฮามา รับเบอร์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงหารือกัน เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่เคยซื้อยางโดยตรงจากสถาบันเกษตรกร และซื้อยางผ่านบริษัทเอกชนที่ขายยางเท่านั้น ซึ่งถ้าหากจะเปลี่ยนมาซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ที่ผลิตยาง บริษัทจะต้องส่งยางตรวจคุณภาพก่อนซึ่งใช้เวลานาน ในเบื้องต้นกยท.จึงมีแนวทางให้บริษัทเหล่านี้ทำสัญญาซื้อขายไว้ก่อนล่วงหน้า และส่งมอบยางให้ทีหลัง

ด้านนายเอกชัย ลิมปิโชติพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด กล่าวว่า หลังจากสิ้นสุดโครงการนี้ ยังยืนยันที่จะซื้อจากสหกรณ์ที่ผลิตยางต่อไป เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายของบริษัทฯ ที่อยากช่วยส่งเสริมทางสหกรณ์ในการขึ้นมาทำธุรกิจผลิตยางล้อร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบัน ทางบริษัทฯ ได้มีการซื้อยางโดยตรงจากสหกรณ์ที่ผลิตยางแล้ว 5-6 สหกรณ์ ส่วนสิ่งที่อยากเพิ่มเติม คือ อยากให้ทาง กยท. เข้าไปดูแลในเรื่องของคุณภาพยาง ให้ได้ตามมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดี (จีเอ็มพี) รวมถึงเรื่องการส่งมอบให้ทันเวลาที่กำหนด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน