บอร์ด กทพ. อนุมัติเจรจาขยายสัมปทานด่วน 2 เส้น 40 ปีให้ บีอีเอ็ม แลกหนี้ค่าโง่ 1.38 แสนล้านบาท พ่วงข้อเสนอให้สร้างทางด่วน 2 ชั้น ช่วงประชาชื่น-อโศก แก้ปัญหารถหนึบกรุง

บอร์ดกทพ.ยืดสัมปทานแลกค่าโง่ – นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบให้กทพ. เจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาท และคดีที่กทพ. ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมากในหลายกรณี ซึ่งที่ผ่านมา BEM ให้ความร่วมมือดีและค่อนข้างประสบความสำเร็จ

โดยกทพ. ได้ยื่นขอเสนอขยายสัมปทานทางพิเศษ (ทางด่วน) อุดรรัถยา และทางด่วนศรีรัช โครงข่ายนอกเมือง (ทางด่วนขั้นที่ 2) ช่วง C และ D ในภาพรวมให้กับ บีอีเอ็ม เพื่อล้างหนี้กับเงินชดใช้ค่าเสียหาย วงเงิน 1.37 แสนล้านบาท ที่ กทพ. ต้องจ่ายให้กับ บีอีเอ็มตามคำสั่งศาล โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการคำนวณว่าระยะเวลาในการต่อขยายสัมปทาน คาดว่าจะขยายสัมปทานให้ประมาณ 30-40 ปี

นอกจากนี้ กทพ. ได้ยื่นเงื่อนไข อื่นๆ ให้ BEM ดำเนินการด้วย เช่น BEM จะต้องก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น ช่วงประชาชื่น-อโศก วงเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงจะต้องระบายจราจรเพิ่มเติม ลดค่าผ่านทาง และประเด็นอื่นๆ เป็นการทดแทนด้วย โดตั้งเป้าหมายว่าจะสรุปผลการเจรจาและเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

“การเจรจาเป็นแนวทางหนึ่งในแก้ไขปัญหาข้อพิพาทจากทั้งหมด 3 ทางเลือก ซึ่งมติ ครม. ให้ กทพ. ไปเจรจาลดหนี้กับเอกชนก่อน เพราะมองมีโอกาสปลดหนี้ได้ และจะทำให้รัฐบาลไม่มีภาระหนี้สิน ขณะที่ประชาชนจะมีทางด่วนเพิ่มขึ้นด้วย ถ้า กทพ. หมดภาระหนี้ ถือว่าปิดฉากคดีค่าโง่ทางด่วนที่เป็นมหากาพย์มานานได้” นายสุรงค์

นายสุรงค์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการทางพิเศษฯ และ BEM มีคดีความเป็นสรุปผลแล้ว 1 คดี โดยการทางพิเศษฯ จะต้องชดใช้เงินมูลค่า 4,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันการทางพิเศษฯ ก็เจรจาขอชะลอหนี้ จนกว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุป

นอกจากนี้ การทางพิเศษฯ และBEM ก็ข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องหรือชั้นอนุญาโตตุลาการอีก 80,000 ล้านบาท โดยถ้าหากรวมคดีอื่นๆ เช่น คดีที่ไม่ทราบว่าหมดอายุความหรือไม่ คดีที่มีความเป็นไปได้ ก็เท่ากับว่ามูลค่าการฟ้องร้องจะสูงสุดถึง 137,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คดีความต่างๆ เกิดขึ้นจากรัฐบาลในอดีต แต่ต้องมองว่าการตัดสินใจดำเนินการของรัฐบาลในอดีตตั้งใจ ไม่ได้ต้องการให้เกิดประโยชน์กับเอกชน แต่ต้องการให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน