เจาะสมรภูมิ‘ค้าปลีกไทย’ ผ่านมุมมอง‘3ยักษ์ใหญ่’: รายงานเศรษฐกิจ

 

ค้าปลีกไทย : รายงานเศรษฐกิจ – ปี2562 ปีหมูที่อาจไม่หมูในหลายๆ ธุรกิจ เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน “ค้าปลีก” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสมรภูมิแห่งนี้ไม่มีคำว่าง่าย โจทย์หนักที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด คือโลกค้าปลีกออนไลน์ ที่พลิกโฉมรูปแบบการแข่งขันของค้าปลีกไทยให้เปลี่ยนแปลงไป

แม้ผู้ประกอบการทั้งศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีกรูปแบบต่างๆ ของไทยจะปรับตัวได้เร็ว ไม่เพลี่ยงพล้ำเหมือนประเทศอื่น แต่เมื่อสนามรบถูกท้าทายด้วยดิจิตอลที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และจะยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 2562 นี้

ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยแต่ละรายจะเคลื่อนทัพธุรกิจและรับมือกับพ.ศ.ใหม่นี้กันอย่างไร

“กลุ่มเซ็นทรัล” ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ปี (2561-2565) กับงบลงทุนกว่า 2 แสนล้าน การเพิ่มสาขาใหม่ในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเปลี่ยนสู่นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโน มีผู้นำด้านดิจิตอลไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มในตลาดค้าปลีกออนไลน์อย่างเต็มสูบ

‘ทศ จิราธิวัฒน์’ ประธานกรรมการบริหาร และประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัลช่วง 5 ปี การขยายสาขาจะมีต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีอยู่ ทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยวางงบลงทุนต่อปีไว้กว่า 40,000 ล้านบาท

เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายในอีก 5 ปี ด้วยจำนวนสาขาในไทยเป็น 7,509 แห่ง ครอบคลุม 52 จังหวัด

ส่วนในต่างประเทศจะเน้นที่ประเทศเวียดนาม ตั้งเป้าจะมีร้านค้ารวมกว่า 753 ร้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,500,000 ตร.ม. ใน 57 จังหวัดทั่วประเทศ จากปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลมีห้างร้านกระจายอยู่ทั่วประเทศเวียดนามรวม 217 ร้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 700,000 ตร.ม. ใน 37 จังหวัด

ในยุโรปเติบโตได้ไม่มาก แต่ห้างที่มีอยู่ของเซ็นทรัลได้รับการตอบรับที่ดี

อีก 2 โครงการใหญ่ร่วมทุนกับพันธมิตรรายใหญ่ อย่าง กลุ่มดุสิตธานี เพื่อพัฒนาโครงการใหม่บนถนนสีลม และกับกลุ่มฮ่องกงแลนด์ ร่วมกันพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส บนถนนเพลินจิต รวมทั้ง 2 โครงการน่าจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ที่สำคัญคือการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์นิว เซ็นทรัล นิวอีโคโนมี เพื่อก้าวสู่การเป็นสุดยอดเทคคอมปานี และ ผู้นำด้านดิจิตอลไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งเป็นค้าปลีกที่ไม่ใช่เพียงการเข้าสู่โลกออนไลน์ แต่เป็น นิว อีโคโนมี ของค้าปลีกที่ทรานส์ฟอร์มทั้งตลาดด้วย อีคอมเมิร์ซ อีไฟแนนซ์ และอีโลจิสติกส์

เจาะสมรภูมิ‘ค้าปลีกไทย’ ผ่านมุมมอง‘3ยักษ์ใหญ่’

กลุ่มเซ็นทรัลมีเป้าหมายจะเติบโตก้าวกระโดดและมียอดขายในธุรกิจออนไลน์ของทั้งกลุ่มมากกว่า 15% ภายใน 5 ปี

ก้าวที่สำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลในการเข้าสู่ การค้าออนไลน์ โดยการร่วมทุนกว่า 17,500 ล้านบาท กับ JD.Com ยักษ์อีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน เมื่อปี 2561 ในการจัดตั้ง ‘เจดี เซ็นทรัล’ สร้างมาร์เก็ตเพลสแห่งใหม่ในชื่อ ‘JD.co.th’เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าของกลุ่มธุรกิจในเครือกลุ่ม เซ็นทรัล ซึ่งพร้อมจะเปิดให้บริการช่วงเดือนเม.ย. 2562

โดยจะเป็นดิจิตอลอีโคซิสเต็ม ครบวงจรควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัลให้เป็นออมนิแชนเนล ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่และคนรุ่นใหม่ อีกทั้งขยายธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง ทั้ง อีโลจิสติกส์ และอีไฟแนนซ์ ระบบเพย์เมนต์ ใน ระยะต่อไป

ขณะที่ ‘กลุ่มสยาม’ภายใต้บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี, สยามพารากอน และไอคอนสยาม

‘ชฎาทิพ จูตระกูล’ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ปี 2562 นี้จะเป็นปีที่ดีในภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กราฟการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยขึ้นมาโดยตลอด ทำให้เชื่อมั่นในการลงทุน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพราะมั่นใจค้าปลีกไทยแข็งแรง ทุกรายพร้อมแข่งขันได้สบายๆ กับทั่วโลก

แม้การเปลี่ยนแปลงในกลุ่มค้าปลีกที่จะต้อง มองยาวไปถึง 20 ปีข้างหน้า และต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การนำเสนอความแปลกใหม่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในยุคนี้ภาคค้าปลีกต้องกล้าคิดใหม่ทำใหม่

“แผนงานในปี 2562 คือ การรุกขับเคลื่อนทุกศูนย์การค้าที่มีอยู่ และโครงการล่าสุดอย่างไอคอนสยาม ที่จะเปิดครบสมบูรณ์ เมื่อศูนย์ประชุมที่ชื่อว่า ทรู ไอคอน ฮอลล์ และพิพิธภัณฑ์ หรือมิวเซียม จะเปิดในเดือนก.ค.2562 ตลอดจนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่จะเพิ่มเส้นทางการเดินทางของลูกค้าให้สะดวกมากขึ้น”

“ชฎาทิพ กล่าวและว่า ขณะเดียวกันโครงการลักซ์ชัวรี่พรีเมียม เอาต์เลต เป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญของสยามพิวรรธน์ ที่ผนึกกำลังกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของโลก‘ไซม่อน’จากสหรัฐอเมริกา สร้างจุดหมายปลายทางด้านช็อปปิ้ง กินดื่ม และบันเทิง บนที่ดิน 150 ไร่ ทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2562 เช่นกัน”

ส่วน “เดอะมอลล์กรุ๊ป” วรลักษณ์ ตุลาภรณ์กรรมการ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เผยถึง 7 กลยุทธ์ของเดอะมอลล์ ในปี 2562 ได้แก่

1.มอบข้อเสนอที่ดีให้กับลูกค้า ผ่านโปรโมชั่นที่น่าสนใจให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละสถานที่

2.การจัดกิจกรรม หรืออีเว้นท์อย่างต่อเนื่อง ทั้งซิกเนเจอร์ อีเวนต์ และเวิลด์คลาส อีเวนต์

3.สร้างประสบการณ์ที่พิเศษให้ลูกค้าสนุกในการช็อปปิ้ง

4.ฟู้ดมาร์เก็ตติ้ง ตอกย้ำความเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหาร

5.จับมือกับพันธมิตรแบรนด์สินค้ารวมทั้ง ศิลปินต่างๆ ในการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างและข้อเสนอพิเศษรวมทั้ง โปรโมชั่นรูปแบบใหม่ที่ทำให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าในการช็อปปิ้งมากขึ้น

6.การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ ผนึกกำลังห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า โดยใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าเชื่อมโยงข้อมูลภายในห้างและศูนย์ฯ เข้าด้วยกัน ทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม

และ 7.ทำเพื่อสังคม สนับสนุนเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับโครงการ Think Green รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก หลอดพลาสติกรวมถึงภาชนะและบรรจุภัณฑ์ต่างๆภายในห้าง ขณะเดียวกัน ในปี 2562 ก็จะรุกในส่วนของออนไลน์เต็มที่ด้วย

‘ศุภลักษณ์ อัมพุช’ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า การมาและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี จากการที่อยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 30 ปี ยอมรับว่ารู้สึกกลัว หวาดระแวง และเป็นกังวล แต่ไม่เคยยอมแพ้ และส่วนตัวแล้วยังเชื่อว่าค้าปลีกเมืองไทยยังไม่ได้เลวร้าย ไม่เหมือนในต่างประเทศที่จะต้อง ปิดกิจการไป

“เพียงแต่เราต้องปรับตัว สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า รวมทั้งการทำอย่างไรที่จะนำเทคโนโลยีและดิจิตอลทั้งหลายเข้ามาใช้กับค้าปลีก ในรูปแบบดั้งเดิมให้เหมาะสมและไปกันได้กับประเทศไทย”

ทั้งหมดนี้ถือเป็นการขยับตัวครั้งใหญ่ของ การค้าปลีกไทย รับกับปีแห่งความท้าทาย เพื่อก้าวได้ทันโลก และ ให้ทุกการเดินเป็นไปอย่างมั่นคง

….ติดตามอ่านข้อมูลที่เกี่ยวได้ที่…

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน