คนกรุงเฮ! คมนาคม เร่งทำแผนแก้รถหนึบ 5 ย่านธุรกิจ “หลานหลวง-เพชรบุรี-รัชดา-พระราม4-กรุงเกษม” หวั่นฉุดเศรษฐกิจซบ ไฟเขียวงบ 28 ล้าน จ้างที่ปรึกษาทำแอกชั่นแพลนเร่งด่วน คาดเริ่มโครงการปี’63

แก้รถหนึบ 5 ย่านธุรกิจ – นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหาครและพื้นที่ต่อเนื่อง กำลังประสบปัญหาด้านการจราจรที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักที่สุดกับพื้นที่ย่านธุรกิจหลักของเมือง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งนี้หากไม่เตรียมการแก้ไขอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้

รวมทั้งที่ผ่านมา สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้คัดเลือกให้กทม. เป็น 1 ใน 6 มหานครเมืองต้นแบบสำหรับการแก้ไขปัญหาจราจร ในโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 ด้วย และเพื่อขยายผลการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร ต่อจากโครงการสาทรโมเดลที่ประสบความสำเร็จ กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้สนข. จัดทำแผนเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในย่านธุรกิจหลักเร่งด่วนในระยะ 5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันการทำธุรกิจและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอนุมัติงบให้ สนข. จำนวน 28 ล้านบาท แบ่งงบประมาณปี 2562 วงเงิน 11 ล้านบาท และปี 2563 วงเงิน 17 ล้าบาท นำไปใช้ในจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาจัดทำแผนเร่งด่วนเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการจราจรเป็นพื้นที่ย่านธุรกิจหลัก ระยะ 5 ปี เพื่อเร่งแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งบน 5 ถนนย่านธุรกิจหลักของกทม. ซึ่งจะครอบคุลมพื้นที่ถนนหลานหลวง, ถนนเพชรบบุรีตัดใหม่, ถนนรัชดาภิเษก, ถนนพระราม 4 และถนนกรุงเกษม”

นายสราวุธกล่าวว่า สนข. จะประกาศจัดจ้างในเดือนม.ค. นี้ คาดว่าใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 1 ปี ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จช่วงม.ค.-ก.พ.ปี 2563 จากนั้นจะนำเสนอโครงการเสนอให้กระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มโครงการให้ได้ภายในปี 2563 เพราะเป็นโครงการเร่งด่วน

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะต้องกลับไปศึกษา สำรวจ ลักษณะทางกายภาพของ 5 พื้นที่เป้าหมาย เกี่ยวกับโครงข่ายคมนาคม การใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่ รวมทั้งวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางภายในพื้นที่ การเข้า ออก และเดินทางผ่านพื้นที่ รวมถึงการคาดการณ์สภาพการจราจร เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปจัดทำแผนปฏิบัติการแร่งด่วน (แอกชั่นแพลน) การบริหารจัดการจราจรที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย แผนงาน มาตรการที่จะดำเนินงาน แนวทางปฏิบัติ ซึ่งอาจจะมีทั้งการออกมาตรการทางด้านกฎหมาย มาตรการด้านสังคม เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหารถติด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน