ก.อุตฯ รับข้อเสนอเอกชน พร้อมผลักดันกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ขึ้นแท่นฮับอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรยั่งยืนและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เซรามิก จ.ลำปาง

รับข้อเสนอเอกชนภาคเหนือ – นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในการลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน) ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือ เห็นควรพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ไปสู่ผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันมีศักยภาพการแปรรูปพืช ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรขั้นต้นที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ วัตถุดิบสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด กาแฟ และพืชผลไม้เมืองหนาว ตั้งเป้าหมายผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีอนาคตและปักหมุดให้เป็นฟู๊ดวัลเลย์ของโลกต่อไป

ทั้งนี้ การยกระดับนอร์ทเทิร์นไทยแลนด์ฟู๊ดวัลเลย์สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล (Northern Thailand Food Valley Scale-up for Future Food Innovation to International Market) เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เป้าหมาย Thailand Food Valley ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศให้มีมาตรฐานอาหารปลอดภัย และเป็นการเพิ่มราคาให้กับสินค้าเกษตร

โดยมีแนวทางการดำเนินการ คือ 1. ยกระดับนอร์ทเทิร์นไทยแลนด์ฟู๊ดวัลเลย์สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล 2. ศึกษาสถานการณ์ตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารในพื้นที่ภาคเหนือตามโจทย์ตลาดสากล พร้อมจัดทำแผนความเป็นได้ของการดำเนินธุรกิจ 3. การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการที่มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

4. ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารโดยผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ 5. ผลิตสินค้าเพื่อทดสอบตลาด 6. สร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาด โดยมีระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี (ปีงบประมาณ 2563-2565) งบประมาณรวม 150 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 วงเงิน 30 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 60 ล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 60 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภาคเอกชนในพื้นที่ยังเสนอโครงการยกระดับกาแฟอะราบิก้าครบวงจร ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ (Northern Boutique Arabica Coffee Hub) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียง และเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวไทยภูเขา ด้วยการต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสูงด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรม

โครงการพัฒนาศักยภาพการออกแบบและการตลาดผลิตภัณฑ์เซรามิกและหัตถอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมแหล่งผลิตเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของจังหวัดลำปาง ให้มีอัตลักษณ์ในเชิงศิลปวัฒนธรรมและมีคุณภาพ เป็นเมืองแห่งการออกแบบเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีโรงงานทั้งสิ้นประมาณ 200 โรง มีแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 20,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อผลักดันให้เป็นฮับของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เซรามิกด้วยการใช้เทคโนโลยีและการออกแบบมาช่วยโดยใช้เครื่องมือของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มาร่วมดำเนินการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน