กสอ. นำร่องดันเอสเอ็มอีเข้าตลาดเอ็ม เอ ไอ คัดผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ หรือกลุ่มสตาร์ 15 ราย สร้างความพร้อมเข้าระดมทุน ปลายปีนี้ โรแยล พลัส เข้าเทรดนำร่อง

ดันเอสเอ็มอีเข้าตลาดหุ้น – นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้คัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ หรือกลุ่มสตาร์ 15 ราย สร้างความพร้อมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับการดำเนินกิจการผู้ประกอบการ ล่าสุดปลายปีนี้บริษัท โรแยล พลัส จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกธุรกิจเครื่องดื่มน้ำมันมะพร้าวและน้ำผลไม้ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่กสอ. ส่งเสริม เตรียมเข้าระดมทุน โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี จากปกติต้องใช้เวลาถึง 5-7 ปี ถือเป็นผู้ประกอบการตัวอย่างที่สามารถก้าวกระโดดจากยอดขาย 26 ล้านบาท ในปี 2555 มาเป็น 750 ล้านบาท ในปี 2561 และปี 2562 ตั้งเป้ายอดขาย 920 ล้านบาท

“เราได้เริ่มโครงการปั้นผู้ประกอบการสตาร์เข้าตลาดเอ็ม เอ ไอ ตั้งแต่ปี 2559 เน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค , ธุรกิจการเงิน , สินค้าอุตสาหกรรม , กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง , กลุ่มทรัพยากร , กลุ่มบริการ และกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งกสอ. จะจัดผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้แบบเจาะลึก สร้างความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้งด้านบัญชี การบริหารจัดการ พัฒนาคน เน้นชูการตลาด และนวัตกรรม นำการผลิต เพราะการหาตลาด ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนสต๊อกสินค้า”

นอกจากนี้ ในปี 2562 ได้ตั้งเป้าหมายยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป 3,000 กิจการ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการการตลาดโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มมูลค่ายอดขายได้กว่า 1,000 ล้านบาท และยังช่วยลดความสูญเสีย เช่น ต้นทุนพลังงานลดเวลาเครื่องจักร การสูญเปล่าจากการจัดการสินค้าคงคลัง และคลังสินค้า รวมทั้งจะเดินหน้าผลักดันสินค้าเกษตรแปรรูปให้เข้าสู่ช่องทางออนไลน์ เพิ่มมูลค่าสูงขึ้นให้ได้ 100%

นายพลแสง แซ่เบ๊ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โรแยล พลัส กล่าวว่า บริษัทได้ส่งออกเครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำมะพร้าวไปยังประเทศจีน สหรัฐฯ เกาหลี และกลุ่มตะวันออกกลาง เฉลี่ยในสัดส่วนใกล้ๆ กัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากตลาดประเทศใดประเทศหนึ่งมีปัญหา โดยกลยุทธ์ที่สามารถสร้างยอดขายได้อย่างก้าวกระโดด คือ วิเคราะห์ความต้องการผู้บริโภคแต่ละประเทศ , ผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการ เน้นใช้วัตถุดิบของไทย , เน้นพัฒนาคน , ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และหาพันธมิตรแต่ละประเทศ

“ปัจจัยเสี่ยงของบริษัทฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่วนสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ไม่ได้รับผลกระทบ กลับเป็นเรื่องได้อานิสงส์ด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารของไทย ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น ถือเป็นเรื่องดี แต่บริษัทฯ ก็ไม่ประมาท ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และป้องกันความเสี่ยงโดยการเฉลี่ยตลอดอยู่แล้ว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน