‘กฤษฎา’ มึนสั่งเช็กข้อมูลยางทั่วประเทศ หลังกยท. มีแผนโค่น 4 แสนไร่ทุกปี แต่พื้นที่กรีดยางยังไม่ลด พื้นที่กรีดทั่วประเทศมี 20 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 4.95% หรือ 9.51 แสนไร่จากปีก่อนมีพื้นที่กรีด 19.2 ล้านไร่

มึนพื้นที่กรีดยางยังไม่ลด – นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้แต่งตั้งนายสุรจิตต์ อินทรชิต รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศ หลังจากข้อมูลที่ออกมาหลายหน่วยงาน อาทิ ข้อมูลจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นต้น จึงให้กระทรวงฯ เรียก กยท. สศก. กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จีสด้า เข้าหารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการหาตัวเลขที่แท้จริงของพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การหาข้อสรุปร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ตัวเลข เพื่อนำมาจัดทำยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯเดินหน้า แผนลดพื้นที่ปลูก แต่ตัวเลขล่าสุดปี 2561 ผลผลิตและพื้นที่กรีดยางไม่ได้ลดลงเลย โดยไทยมีผลผลิต 4.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.8% จากปีก่อนหน้ามีผลผลิต 4.5 ล้านตัน ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเกิดจากผลผลิต/ไร่เพิ่มขึ้น 243 กิโลกรัม(ก.ก.)/ไร่ เพิ่มขึ้น 9 ก.ก./ไร่ จากปีก่อนหน้ามีผลิต 234 ก.ก./ไร่ และพื้นที่กรีดทั่วประเทศมี 20 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 4.95% หรือ 9.51 แสนไร่จากปีก่อนมีพื้นที่กรีด 19.2 ล้านไร่

กฤษฎา บุญราช

“จากการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กยท. บอกว่าที่ผ่านมา กยท. ยังคงเดินหน้า ตามแผนลดพื้นที่ปลูกโดยการส่งเสริมให้โค่นยางปีละประมาณ 4 แสนไร่ ซึ่งพื้นทีที่ปลูกยางน่าจะลดลง แต่ที่ไม่ลดลงอาจเป็นเพราะเมื่อมีการโค่นยางแล้วไม่มีการลงทะเบียน จึงสั่งให้ไปหาความชัดเจนมาให้ได้ข้อสรุปในเดือนม.ค.นี้”

รายงานข่าวจาก กยท. กล่าวว่า ขณะที่คาดการณ์การของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางทั่วโลก ปี 2561 มีความต้องการใช้ยางพารา 13.28 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.84% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ผลผลิตมี 13.71 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.33% จากปีก่อนหน้ามีผลผลิต 13.53 ล้านตัน โดยยางพาราได้รับผลกระทบในหลายเรื่อง กดดันราคายางพารา คือ แนวโน้มธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย, ปริมาณสต๊อกน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน

ส่วนปี 2562 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มาตรการที่ดำเนินการผ่านมาและกำลังดำนินการต่อมีดังนี้คือโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินโครงการ ธ.ค. 2561-ธ.ค. 2562 โดย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 92,289.36 ล้านบาท ผลการด้าเนินงาน กรมทางหลวง จัดทำข้อกำหนดพิเศษดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับงานถนนท้องถิ่น กรมทางหลวงชนบท จัดทำและเผยแพร่แบบแนะนำสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กรมบัญชีกลาง ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง

ขณะที่มาตรการที่ดำเนินการผ่านมาและกำลังดำเนินการ คือ 1. โครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกยางพันธุ์ดีและไม้ยืนต้นชนิดอื่น ระยะเวลาโครงการระหว่าง ต.ค. 2561 – ก.ย. 2562 วงเงิน 6,632 ล้านบาท ผลการปลูกแทน บนเนื้อที่ 48,375.20 ไร่ 2. โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ส่งเสริมการลดพื้นที่ ปลูกยาง ม.ค. – ก.ย. 2561 วงเงิน 1,500 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน ผ่านการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ จำนวน 14,847 ราย เนื้อที่ 94,434.04 ไร่

3. โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2561 วงเงิน 3,000 ล้านบาท มีการรับซื้อยางของหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ยางและซื้อยางกับกยท. ปี 2561

4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิต ผลิตภัณฑ์ยาง ระหว่างเดือนพ.ค. 2560 – เม.ย. 2562 วงเงิน 15,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการที่ผ่านการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 6 ราย 5. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแกสถาบัน เกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา ระหว่าง 31 มี.ค. 2560 – 31 มี.ค. 2563 วงเงิน 10,000 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรเบิกเงินกู้จริง 372 แห่ง ผลการรวบรวม/รับซื้อยางตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2560 – 30 พ.ย. 2561 รวมทั้งสิ้น ปริมาณ 662,745.73 ตัน มูลค่า 25,692.52 ล้านบาท

8. โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ระหว่างเดือนมี.ค. 2561 – ก.ย. 2562) โดยกยท.ภายใต้วงเงิน 17,007.20 ล้านบาท มีเกษตรกรแจ้งยืนยันสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ จ้านวน 234,939 รายเนื้อที่ 2,195,513.03 ไร่ ผ่านคณะทำงานฯ ระดับตำบล จำนวน 32,482 ราย เนื้อที่ 301,202.94 ไร่ , ผ่านคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ จำนวน 24,867 ราย เนื้อที่ 233,044.81 ไร่ , กยท. ส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส. จำนวน 24,858 ราย เนื้อที่ 232,953.35 ไร่ ณ วันที่ 11 ม.ค. 2562 เป็นเงิน 419.316 ล้านบาท

และ 9. โครงการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางของสถาบันเกษตรกร ระหว่างเดือน ธ.ค. 2561-ก.พ. 2563 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ วงเงิน 5,000 ล้านบาท สรุปผลการรวบรวมยางพาราโดยสถาบันเกษตรกรแม่ข่าย ส่งออกต่างประเทศ แผน 47,000 ตัน ผลการรวบรวม 106.635 ตัน และส่งจำหน่ายในประเทศ แผน 37,900 ตัน ผลการรวบรวม 65.00 ตัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน