สำรวจชีพจรผู้ค้าตลาดจตุจักรก่อนเปลี่ยนผ่านจากรฟท.สู่กทม.

สำรวจชีพจรผู้ค้าตลาดจตุจักรก่อนเปลี่ยนผ่านจากรฟท.สู่กทม. : นับถอยหลังกันแล้วในการเปลี่ยนมือผู้รับผิดชอบตลาดนัดจตุจักรจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาสู่การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในสิ้นเดือนก..นี้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ทำสำรวจสถานภาพ ผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักรก่อนการเปลี่ยนมือทีมบริหาร

ข้อมูลจากรฟท. พบว่าในตลาดนัดจตุจักรมีแผงค้า 11,505 แผง หลังจากย้ายไปอยู่กับกทม. คาดว่าจะเก็บค่าเช่าเดือนละ 1,600 บาทต่อแผง

จากผลสำรวจผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักร ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้า 85.15% ประเภทสินค้าที่ขายมากสุดคือ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 40.97% รูปแบบการดำเนินกิจการนั้น ส่วนใหญ่ทำในนามบุคคลธรรมดา 49.94% ไม่ได้จดทะเบียน 45.21% นิติบุคคล มีเพียง 2.62%

กว่า 90.90% เป็นเจ้าของคนเดียว มีแรงงานเฉลี่ย 3 คน ส่วนใหญ่ 38.91% ดำเนินกิจการมาประมาณ 4-6 ปี มีรายได้รวมเฉลี่ย 139,518.42 บาทต่อเดือน

สำหรับความเป็นเจ้าของร้านของ ผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักรนั้น ผู้ค้าที่มีจำนวน 1 แผง 67.24% จะเช่าโดยตรงกับ รฟท. ค่าเช่าส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ย 10,638.62 บาทต่อเดือน และ 79.16% ใช้วิธีเช่าช่วงต่อมา ซึ่งมีค่าเช่าส่วนใหญ่อยู่ที่ 10,001-50,000 บาท หรือเฉลี่ย 17,713.47 บาทต่อเดือน

ผลสำรวจถึงจำนวนวันที่ผู้ประกอบการจะเปิดหน้าร้าน ค้าขายในตลาดนัดจตุจักรนั้น จำนวน 70.42% บอกว่า 2 วัน ส่วนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3 วัน รายได้จากการขายในตลาดนัดจตุจักรนั้น ส่วนใหญ่ 43.86% อยู่ที่ 10,001-50,000 บาทต่อเดือน ส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 101,643.03 บาทต่อเดือน

ด้านผลสำรวจสถานภาพทั่วไปของ ผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักร ยอดขายปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 36.67% บอกว่าลดลง 33.74% บอกว่าเท่าเดิม มีเพียง 29.58%บอกว่าเพิ่มขึ้น รวมถึง 40.12% บอกว่าจำนวนลูกค้าลดลง

อย่างไรก็ตามอีก 6 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่ 42.27% เชื่อว่า ยอดขายจะเพิ่มขึ้น 44.87% บอกว่า กำไรจะเพิ่มขึ้น 39.68% เชื่อว่าสภาพคล่องจะเพิ่มขึ้น 36.31% เชื่อว่า จำนวนลูกค้าจะเพิ่มขึ้น 36.31% และ 35.86% เชื่อว่า สต๊อกสินค้ารอการขายจะลดลง

เมื่อถามถึงหนี้สินจากการดำเนินธุรกิจและแหล่งที่มาของหนี้สินนั้น ผู้ประกอบการค้าในตลาดนัดจตุจักร 53.32% บอกว่า ไม่มีหนี้สิน ส่วน 46.68% บอกว่ามีหนี้สิน โดย 69.84% เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียว 17.43% เป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว และ 12.73% เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ

ภาระหนี้เฉลี่ย 288,013.70 บาท อัตราผ่อนชำระ 7,375.76 บาทต่อเดือน และเมื่อเทียบกับปีทีผ่านมา มีภาระหนี้ทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้น

ส่วนความช่วยเหลือจากภาครัฐนั้น นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ธนาคารเตรียมร่วมมือกับ กทม. ยกระดับตลาดนัดจตุจักร เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ช่วยประชา สัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถจะค้าขายได้ตลอด 7 วัน

นอกจากนั้นจะเติมทักษะ ยกระดับ ความสามารถให้ผู้ค้าในตลาดขยายตลาดออนไลน์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น อบรมการค้าออนไลน์ หรือ e-commerce ปักหมุดธุรกิจแจ้งเกิดบนโลกออนไลน์ พาจับคู่ธุรกิจกับ ผู้ให้บริหารตลาดออนไลน์ อย่าง Shopee นำไปเปิดตลาดต่างประเทศ

รวมทั้งให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Eco nomy Loan) บุคคลธรรมดาปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน เป็นต้น

จากนั้นต้องตามดูกันไปว่าตลาดนัด จตุจักรหนึ่งในแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อมาอยู่ในความดูแลของกทม.

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน