สทนช. ลั่นไม่เก็บค่าน้ำการดำรงชีพและการทำเกษตร ส่วนจะเก็บจากอุตสาหกรรมขนาดไหน เก็บอย่างไร ต้องไปรับฟังความคิดเห็นและศึกษาให้รอบคอบที่สุด พร้อมเตรียมประสาน ‘จีน-ลาว’ จะปล่อยน้ำเขื่อนช่วยแจ้งก่อน 3-4 เดือน หวั่นกระทบคนไทย

ลั่นไม่เก็บค่าน้ำดำรงชีพ-ทำเกษตร – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. เตรียมจะบูรณาการหน่วยงานน้ำต่างประเทศ โดยต้องประสานกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (อังกฤษ : Mekong River Commission : MRC และ แผนปฏิบัติการ 5 ปี ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อหารือในการบริหารจัดการน้ำกรณี จีน และลาว มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนในการบริหารจัดการน้ำของแต่ละประเทศ ทั้งจีนและลาว หากต้องการบริหารน้ำในเขื่อนของประเทศตัวเองโดยการปล่อยน้ำเพื่อป้องกันเขื่อนแตกจะขอความร่วมจีนและลาวให้แจ้งไทยก่อนประมาณ 3-4 เดือนล่วงหน้า เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนคนไทย

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำพ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 27 ม.ค. 2561 จากนี้ต่อไป สทนช. เตรียมนำกฏหมายลูกต่างๆ อาทิ การกำหนดพื้นที่ลุ่มน้ำและการอนุญาตใช้น้ำ การเก็บค่าน้ำ เป็นต้น ออกรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเก็บค่าน้ำ สทนช. อยู่ระหว่างการศึกษาการเก็บค่าน้ำชลประทาน และการจัดเก็บค่าน้ำบาดาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

โดยพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว นับเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะทำให้เกิดการบูรณาการการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพ มีมาตรการป้องกันแก้ไขน้ำแล้ง-น้ำท่วม วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ มีองค์กรในการบริหารจัดการน้ำระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำ

“เบื้องต้นการใช้การน้ำใช้ในขั้นพื้นฐานการดำรงชีพและการทำการเกษตร จะไม่มีการเก็บค่านํ้าอย่างแน่นอน ส่วนจะเก็บจากอุตสาหกรรมขนาดไหน เก็บอย่างไร ตรงนี้จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นและศึกษาให้รอบคอบที่สุด”

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ได้เสนอปรับแผน ปี 2562-2563 จำนวน 101 โครงการ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม โดยการเสนอแผนงานรวม 9 โครงการ จัดการแหล่งน้ำธรรมชาติ และมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ใน 3 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2562-2565 จำนวน 30 โครงการวงเงิน 4.3 แสนล้านบาท จะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุน 4,326 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่ได้รับประโยชน์ 4.87 ล้านไร่ เริ่มก่อสร้างปี 2562 จำนวน 11 โครงการ เข่น โครงการระบายน้ำบางบาล-บางไทร อ่างลำน้ำชี จังหวัดชัยภูมิ ห้วยหลวงตอนล่าง เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มน้ำต้นทุน 378 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 9.6 แสนไร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน