คมนาคมฝันขึ้นชั้นเวิลด์คลาส หลังเปิดท่าเทียบเรือชุด D เตรียมดึงเรือใหญ่เข้าไทย ดันจีดีพีโต 4-5%

เปิดท่าเทียบเรือชุด D – นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเปิดท่าเทียบเรือชุด D (D1, D2, D3) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ว่า ท่าเรือดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบในการบริหารจัดการท่าโดยบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ต ประเทศไทย ถือเป็นการให้บริการท่าเทียบเรือที่สามารถดึงเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเข้ามาใช้บริการที่ประเทศไทยได้จากเดิมจะลงที่ท่าเรือสิงคโปร์ เนื่องจากท่าเทียบเรือดังกล่าวมีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งปั้นจั่นหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางทั้งหมด โดยผู้ควบคุมจากเดิมอยู่หน้าท่า ก็ปรับเปลี่ยนมาบังคับควบคุมที่ห้องปฎิบัติการระยะไกลแทน

รองรับตู้สินค้าได้ 3.5 ล้านทีอียูต่อปี และจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังได้อีก 40% และเมื่อเปิดให้บริการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ด้วยจะทำให้ ทลฉ. รองรับตู้สินค้าผ่านหน้าท่าจาก 8 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านทีอียู ทำให้ ท่าเรือ ทลฉ. กลายเป็นท่าเรือระดับโลก (เวิลด์คลาส) ที่สำคัญยังช่วยต่อยอดพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อีกด้วย

นายอาณัติ มัชฌิมา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด กล่าวว่า ท่าเทียบเรือชุด D มีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร ประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน โดยอุปกรณ์ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ราว 3.5 ล้านทีอียูต่อปี (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในการขนส่งสินค้าที่ ทลฉ. เพิ่มขึ้นจาก 34% เป็น 50% ในปี 2566-67 ให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้ทั้งสิ้น 13 ล้านทีอียู มั่นใจดันอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในภาพรวมโต 4-5% ต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน