แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในวาระ 2 และ 3 หลังจากผ่านวาระแรกไปเมื่อปลายปี 2561 โดยมีเป้าหมายที่จะให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อหวังเป็นกลไกของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทาง ส.อ.ท. ไม่เห็นด้วยกับร่างกฏหมายดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนนโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ผ่าน ส.อ.ท. อยู่แล้ว

หากพิจารณารายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่จะให้มีสมาชิกร่วมจัดตั้ง 22 สมาคม และจัดกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าเป็นกรรมการสมาคมนั้น พบว่า การจัดกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการ กำหนดกลุ่มหรือแยกย่อยประเภทธุรกิจขึ้นมาอีก 6-7 กลุ่มย่อย ซึ่งการกำหนดกลุ่มไม่มีมาตรฐานระดับสากลรองรับ อีกทั้งบางกลุ่มธุรกิจมีสมาชิกแค่ 5-7 คนเท่านั้น ผิดจากคลัสเตอร์ใน ส.อ.ท. โดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีผู้แทนจากสมาพันธ์ดิจิทัล และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นคนของกลุ่มทุนด้านการสื่อสารแทบทั้งสิ้น อีกทั้งในบทเฉพาะกาลของร่างกฏหมายดังกล่าว ให้ยกเลิกสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิและหนี้ของสมาคม ตลอดจนพนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งสมาชิกสมาคมสมาพันธ์ทั้งหมดไปเป็นของสภาดิจิทัลแทน โดยให้ถือว่าเป็นการทำงานต่อเนื่อง ถือเป็นกรณีแรกที่การขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลของประเทศ คู่ขนานไปกับรัฐบาล เปิดให้บริษัทสื่อสารที่ทำธุรกิจครบวงจรเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายด้านไอทีของประเทศโดยตรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน