สศก. ชี้ปี’62 ทุเรียนไทยราคาสูง 5 เท่าของต้นทุน จีนนิยมเพราะเป็นผลไม้มงคล-แนะเจาะตลาดญี่ปุ่น-เกาหลี-อินเดียกระจายเสี่ยง

ปี’62 ทุเรียนไทยราคาสูง 5 เท่า – นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2562 สถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีราคาใกล้เคียงกับที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจของ 2 ประเทศผู้บริโภคหลักของทุเรียนไทย อย่าง จีน เวียดนาม ยังดีต่อเนื่อง จากปี 2561 มีการส่งออก 518,882 ตัน เพิ่มขึ้น 3.05% จากปีก่อนหน้ามีปริมาณส่งออก 503,536 ล้านบาท มูลค่า 35,333 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.21% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าส่งออก 24,846 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกทุเรียน 518,882 ตันในปี 2561 มีการส่งออกไปยังจีนสัดส่วน 41% เวียดนาม 37% ฮ่องกงสัดส่วน 17% ของปริมารการส่งออกทั้งหมด ส่วนราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2562 จะใกล้เคียงปี 2561 คือราคา 78.16 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นจากปี 2560 สัดส่วน 8.84% โดยราคาทุเรียนสูงกว่าต้นทุนการผลิต 5 เท่า จากต้นทุนผลิตปี 2561 ที่ 15.10 บาท/ก.ก. ลดลงจากต้นทุนปี 2560 อัตรา 5.12% จากต้นทุนที่ 15.93 บาท/ก.ก.

“ระยะสั้นๆ นี้ ราคาทุเรียนจะสูงกว่าต้นทุนอยู่มาก แต่เนื่องจากไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีน ในสัดส่วนที่สูงมาก ถึง 41% ของการส่งออกทั้งหมด เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดส่งออกหลักอย่างจีน ทุเรียนไทยต้องหาตลาดใหม่ คือ เร่งขยายตลาดทุเรียนไปยัง เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ชื่นชอบทุเรียนกรอบ ตะวันออกกลาง อินเดีย นิยมทุเรียน freeze dried และต้องเน้นส่งเสริมให้ชาวสวนทำการซื้อขายโดยตรง ผ่านตลาดออนไลน์ พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ ให้มีความสามารถยืดหยุ่นและรักษาคุณภาพสินค้า แต่ต้องมีความสวยงามเพิ่มมูลค่าผลผลิต”

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ส่วนผลผลิตปี 2562 คาดมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 683,000 ตัน เพิ่มขึ้น 4.3% จากปี 2561 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 655,000 ตัน และเพิ่มขึ้น 5.31% จากผลผลิตปี 2560 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 622,000 ตัน ส่วนผลผลิต ปี 2562 คาดว่าจะมี 863,732 ตัน เพิ่มขึ้น 17.18% จากปีก่อนที่มีผลผลิต 737,065 ตันเพิ่มขึ้น 13.54% จากผลผลิตปี 2560 ที่มี 649,171 ตัน

“ตั้งแต่ปี 2557 ผลผลิตและราคาทุเรียนไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบคู่แข่ง อาทิ ไทยสามารถส่งทุเรียนสดเข้าจีนได้ โดยเน้นส่งเป็นทุเรียนหมอนทอง ขณะที่มาเลเซียยังส่งออกได้เฉพาะทุเรียนแช่แข็ง ส่วนทุเรียนของมาเลเซีย พันมูชาน คิง มีราคาแพงกิโลกรัมละ 300-400 บาท ส่วนสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่มีหาข้อยุติได้ในอนาคต จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าหรือผู้ซื้อทุเรียนหลักอย่างจีนมากนัก ที่สำคัญคนจีนถือว่า ทุเรียนคือผลไม้มงคลต้องกินทุกปี และไทยยังมีการขายทุเรียนผ่านอาลีบาบา ซึ่งเป็นช่องทางการซื้อขายที่คนจีนเข้าถึงจำนวนมาก”

สำหรับอนาคตของทุเรียนไทย สศก. มองว่าเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ควรเน้นผลิตทุเรียน เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีมากกว่า การเน้นในเรื่องของปริมาณ เพื่อรองรับการแข่งขันของคู่ค้าในอนาคต จากปัจจุบันไทยเน้นส่งออก ทุเรียนหมอนทอง ควรเพิ่มสายพันธุ์ทุเรียนให้มีความหลากหลาย อาทิ ก้านยาว ชะนี พวงมณี เพื่อกระจายความเสี่ยง ยกระดับการขายเป็นขายทุเรียนพรีเมียม และเพิ่มรูปแบบกาแปรรรูปทุเรียนเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ทุเรียนอบกรอบ ทำทุเรียน freeze dried เพื่อเจากกลุ่มลูกค้าที่ไม่ชอบกลิ่นทุเรียน และเน้นตลาดในประเทศมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน