พาณิชย์โต้ระบายข้าวในสต๊อกโปร่งใส พร้อมแจงข้าวหอมมะลิบรรจุถุงราคาพุ่งแค่ข่าวลือชี้ช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกหอมมะลิทรงตัวตั้งแต่ต้นฤดูจนถึงปัจจุบันและไม่มีทิศทางที่จะปรับสูงขึ้นจนกระทบแต่อย่างใดและราคาจะทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง

หอมมะลิบรรจุถุงราคาพุ่งแค่ข่าวลือ – น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวข้าวหอมมะลิบรรจุถุงมีราคาปรับตัวสูงขึ้นอันจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏว่าราคาปรับตัวสูงขึ้นตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด มีการปรับเปลี่ยนราคาขึ้นลงตามกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายเท่านั้น กระแสดังกล่าวอาจเกิดจากผู้ประกอบการข้าวถุงเกิดความกังวล เกี่ยวกับปริมาณข้าวเปลือกหอมมะลิที่ผลิตได้ในปี 2561/62 ที่ลดลงเหลือประมาณ 6.6 ล้านตันต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะได้ประมาณ 9 ล้านตัน จึงคาดการณ์ล่วงหน้าว่าราคาข้าวสารอาจจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกหอมมะลิทรงตัวตั้งแต่ต้นฤดูจนถึงปัจจุบันและไม่มีทิศทางที่จะปรับสูงขึ้นจนกระทบต่อราคาข้าวสารแต่อย่างใดและคาดว่าราคาจะทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในกำกับดูแลให้ราคาข้าวสารอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ และหาแนวทางป้องกันมิให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาสูงขึ้นเกินความเป็นจริง จนกระทบต่อผู้บริโภค หากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการขึ้นราคาข้าวสูงเกินสมควร หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านปริมาณและคุณภาพ แจ้งได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569

นอกจากนี้ น.ส.ชุติมา ยังกล่าวถึงกรณี ที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ระบุว่ากระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวดีที่ตีเป็นข้าวเสื่อมแล้วขายในราคาถูกเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุน ว่า รัฐบาลนี้ระบายข้าวในสต๊อกด้วยความโปร่งใส ซึ่งในช่วงแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ พบว่า มีข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมาจำนวนมากถูกเก็บไว้ในสต๊อกของรัฐเป็นเวลานาน จึงมีความจำเป็น ต้องตรวจสอบสภาพ ปริมาณ ชนิด และคุณภาพ ก่อนดำเนินการระบาย เพื่อลดภาระและรักษาประโยชน์ของรัฐ ซึ่งคสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบความมีอยู่จริงของข้าวทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยการตรวจนับปริมาณสต๊อกข้าวและสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพปฏิบัติตามหลักสากล มีคู่มือแนวทางปฏิบัติงานชัดเจน

ทั้งนี้ นบข. มีมติให้นำข้าวที่ผ่านการตรวจสอบและจัดระดับชั้นคุณภาพแล้วมาระบายตาม แผนยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต๊อกของรัฐในช่วงแรกของการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ ภาครัฐได้เริ่มระบายข้าวคุณภาพดีที่คนบริโภคได้ก่อน เพื่อให้ได้ราคาประมูลที่ดีที่สุด และไม่ให้มูลค่าข้าวดีลดลงจากสภาพข้าวที่เสื่อมลงไปตามระยะเวลาการเก็บรักษา

“การระบายข้าวกว่า 18 ล้านตันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ทำสำเร็จและไม่กระทบต่อตลาดข้าวในประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จของรัฐบาลนี้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเอประโยชน์ให้ใครเพราะมีกฎกกติกาชัดเจนในการประมูล โดยเมื่อได้คัดข้าวที่คนบริโภคได้ออกมาประมูลขายจนหมดแล้ว ข้าวที่เหลือเป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมาก เสื่อมสภาพ เก็บมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี ผ่านการรมยาทุก 60 วัน ได้รับความเสียหาย (จากภัยธรรมชาติ เช่น พายุฝน น้ำท่วม และไฟไหม้) ข้าวที่อยู่ในคลังที่มีสภาพไม่ได้มาตรฐานไม่ปลอดภัย (คลังพัง กองล้ม) คุณภาพข้าวไม่เหมาะสมต่อการบริโภคของคนและ/หรือสัตว์ รวมทั้งเป็นอุปทานส่วนเกินที่ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาตลาดและราคาข้าว โดยมีทั้งคลังที่เป็นข้าวเสียยกคลัง และคลังที่มีข้าวเสียปะปนอยู่กับข้าวดีแต่ไม่สามารถคัดแยกได้ เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับเวลาและค่าใช้จ่ายนับพันล้านบาทที่จะต้องสูญเสียไปหากจะคัดแยกออกมา” น.ส.ชุติมา กล่าว

โดยภาครัฐได้ระบายข้าวในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558-2561 มีปริมาณรวม 5.16 ล้านตัน โดยแบ่งเป็น 1. ข้าวที่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของคน นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปริมาณ 4.10 ล้านตัน 2. ข้าวที่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคทั้งคนและสัตว์ นำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน ปริมาณ 1.06 ล้านตัน ส่วนการฟ้องร้องในคดีต่างๆ นั้นล่าสุดองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ได้รายงานว่าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีคดีใดที่หมดอายุความ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน