‘สมคิด’ ห่วงบาทแข็งกระทบเกษตรกรดอดหารือแบงก์ชาติดูแล ด้านผู้ว่าฯ ธปท. รับบาทแข็งค่าเร็วไป แต่ไม่พบการเก็งกำไรผิดปกติ มาจากส่งออก-ท่องเที่ยวขยายตัวดี ยืนยันไม่ล็อกค่าเงิน หวั่นถูกกีดกันการค้า

ห่วงบาทแข็งกระทบเกษตรกร – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ความกังวลสถานการณ์บาทเงินบาทแข็งค่า จะกระทบกับราคาสินค้าเกษตรและรายได้ที่เกษตรกรควรได้ เรื่องค่าเงินที่อาจกระทบต่อเกษตรกร จึงได้หารือกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป เบื้องต้นผู้ว่าฯ ธปท. ก็เข้าใจ แต่จะให้ควบคุมค่าเงินบาทให้ปรับลดลงรวดเร็วคงทำไม่ได้ เพราะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนไม่สามารถกดดันกันได้ง่ายๆ มันจะกระทบกับทุกฝ่ายเรื่องนี้ต้องเข้าใจ รัฐบาลเข้าใจ ธปท. และรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ ธปท. ได้

ด้านนายวิรไท กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ธปท. ยอมรับว่าค่าเงินบาทในบางช่วงแข็งค่าเร็วเกินไป แต่ยังไม่พบว่ามีความเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือ การเก็งกำไร ซึ่งเงินทุนที่ไหลเข้าไทยเป็นเงินที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งจากการค้าและบริการ ที่มาจากการท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเที่ยวตั้งแต่ปลายไตรมาส 4 ปี 2561 ทำให้ในทั้งปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการเกิดดุลเฉพาะเดือนธ.ค. 2561 เดือนเดียว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้การส่งออกใน ธ.ค. ยังชะลอตัว

“หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วมากจากการเก็งกำไร หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มาอยู่ที่ 1.75% จึงทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงินของนักลงทุน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนขายสุทธิในตลาดพันธบัตรมูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะเป็นพันธบัตรระยะสั้น ขณะที่มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น ซื้อสุทธิ 100 ล้านเหรียญสหรัญฯ รวมปริมาณเงินทุนติดลบ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ”

นายวิรไท กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.75% ยัง ต่ำกว่าสหรัฐฯที่ 2.50% และยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย 6% ฟิลิปปินส์ 6% เวียดนาม 6.25% และ มาเลเซีย 3.25% ทั้งนี้ ยืนยันว่า เรื่องของค่าเงินบาท ไม่สามารถกำหนดค่าเงินให้คงที่ได้ เพราะปัจจัยต่างประเทศมีผลต่อกระทบค่าเงินบาทมาก และมีแนวโน้มผันผวนจากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ ทำให้ค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลง รวมทั้งเศรษฐกิจโลก และการเมืองระหว่างประเทศ หากไทยดูแลค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า ก็อาจจะส่งผลให้ถูกกีดกันทางการค้าตามมาได้

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำไม่ใช่ แค่ ธปท. เพียงอย่างเดียว ในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนได้มากขึ้น เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นที่สามารถรองความผันผวนได้มากกว่าไทยและเห็นว่า ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ไทยควรเร่งเรื่องของการลงทุน นำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนได้และยังต้องปรับคุณภาพ ตราสินค้า เพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันกับคู่แข่งได้ ไม่ใช่เน้นเรื่องราคา เพราะจะไม่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ขอให้ผู้ส่งออกใช้สกุลท้องถิ่นในการค้าขายต่างประเทศ เพราะจะมีความผันผวนน้อยกว่าเงินเหรียญสหรัฐ เพราะปัจจุบันผู้ส่งออกใช้สกุลเงินเหรียญในการค้าขายต่างประเทศ 70-75% และให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือใช้ FX Option กับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่งได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน