‘สมคิด’ ตีกลับแผนบูรณาการ สั่ง “ปฏิรูปการผลิตและตลาด” โจทย์ใหม่เพื่อนำไปหารือสำนักงบฯ 18 ก.พ.นี้ ทุกกระทรวงต้องเปลี่ยนแนวทางการจัดสรรใหม่ โดยใช้ผลผลิตด้านการเกษตร ที่มีปัญหามาร่วมกันแก้ไข

สมคิด สั่ง “ปฏิรูปการผลิต-ตลาด” – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมแผนบูรณาการและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ประจำปี 2563 โดยมี กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมหารือและร่วมจัดทำแผนภายใต้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปปรับปรุงโครงการและงบประมาณใหม่ ให้จัดทำภายใต้โจทย์ การปฏิรูปการผลิต และการตลาด เพื่อนำเข้าหารือสำนักงบประมาณในวันที่ 18 ก.พ. 2562

ทั้งนี้ ทุกกระทรวงต้องเปลี่ยนแนวทางการจัดสรรใหม่ โดยใช้ผลผลิตด้านการเกษตร ที่มีปัญหามาร่วมกันแก้ไข ให้ดำเนินการตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด จากเดิมที่แต่ละกระทรวงจะต่างคนต่างทำ บางครั้งดำเนินการซ้ำซ้อน และที่สุดแล้วไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย

“การปฏิรูปการผลิตและการตลาด ที่ประสบผลสำเร็จและเป็นตัวอย่าง คือ ข้าว ที่มีแผนข้าวครบวงจรเกิดขึ้น ดังนั้นให้ทุกกระทรวงกลับไปคิดว่ามีสินค้าชนิดใดที่ต้องแก้ไขแล้วนำมาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแผนให้สอดคล้องใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีความเสี่ยง กรณีสินค้าใดที่มีกองทุนอยู่แล้วให้นำเงินดังกล่าวมาช่วยสนับสนุน วิธีการแบบนี้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้ต้องคิดและนำมาพิจารณาอีกทั้งวันที่ 18 ก.พ. นี้ ที่สำนักงบประมาณ”

นายสมคิด กล่าวว่า การผลิตสินค้าแต่ละชนิดตามแผนที่จัดทำขึ้น ต้องรวมกลุ่มเป็นทางสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ แล้วเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเข้ามารับซื้อ หรือขายผ่านทุกช่องทาง สร้างมูลค่าเพิ่ม ดึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเข้ามาร่วมด้วย จากนั้นจึงจะทราบงบประมาณที่ชัดเจนดังนั้นงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท สามารถยืดหยุ่นได้ ให้ข้าราชการเปลี่ยนการทำงาน เปลี่ยนแนวคิดจากปัจจุบันที่ตั้งงบประมาณหลักๆ ไว้ก่อนแล้วค่อยกระจาย วิธีการนี้ไม่ได้ผล เช่น การกำหนดงบเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตสนับสนุนเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร แบบนี้ไม่ควรทำ

ด้านนายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า งบประมาณปี 2563 งบบูรณาการฐานรากในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ เบื้องต้นมีประมาณ 6,000 ล้านบาท จะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาจากปีนี้ทำได้ 9 แสนไร่ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2 ล้านไร่ แต่ถือว่าประสบผลสำเร็จ และจะผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้เกิน 3,500 บาทต่อไร่ให้ได้ รวมทั้งจะส่งเสริมให้ปลูกพืชหมุนเวียนอื่น เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว พืชผัก เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน