กฟผ. จ่อระดมทุนกว่า 6 แสนล้าน ลุยพัฒนาโรงไฟฟ้า 5.4 พันเมกะวัตต์ ภายใน 10 ปีรับแผนพีดีพี เล็งออกหุ้นกู้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาร่วมลงทุนกับกฟผ.ได้

กฟผ. จ่อระดมทุน 6 แสนล้าน – นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มีแผนลงทุนกว่า 600,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบสายส่ง พัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงที่จะหมดอายุสัญญาในระยะ 10 ปี รวม 5,400 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง ที่จะเริ่มโครงการในปี 2568 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ พระนครใต้ สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง และพระนครเหนือ รวมทั้งสิ้น 8 โรง แบ่งเป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน 700 เมกกะวัตต์ ที่แม่เมาะ นอกนั้นจะเป็นโรงไฟฟ้าคอมไบน์ไซเคิล ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก

ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศของ กฟผ. อยู่ที่ 31% หลังที่จะมีการปลดระวางโรงไฟฟ้าที่หมดอายุแล้ว จากปัจจุบันสัดส่วนของ กฟผ. อยู่ที่ 35% และตามที่มีการระบุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) ที่กำหนดสัดส่วนให้กฟผ. มีการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 24% ช่วงปลายแผนในอีก 20 ปีถัดไป ซึ่งในช่วงนั้นจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ยังไม่มีการระบุว่าเป็นของใคร หรือให้ฝ่ายไหนดำเนินการอีก 11% หากในอนาคตทางรัฐบาลมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการในส่วนนั้นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ก็จะมากกว่า 24%

“ขณะนี้เรากำลังดูอยู่ว่าช่องทางในการหาเงินใดบ้างที่ทำแล้วมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยที่ผ่านมา กฟผ. จะกู้เงินจากธนาคารในประเทศไทย แต่เบื้องต้นมองว่าการออกหุ้นกู้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ดี เพราะเราจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาร่วมลงทุนกับเราได้ ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาด้านการเงินแน่นอน”นายวิบูลย์ กล่าว

ขณะเดียวกันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชน (ไอพีพี) ในช่วงปลายแผนก็เหลือเพียงแค่ 13% เท่านั้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 33% ซึ่งจะมีการกระจายสัดส่วนไปสู่ในโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (วีเอสพีพี) มากขึ้นกว่า 35% และในส่วนนั้นก็จะเป็นการผลิตไฟจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) มากที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลสำหรับกฟผ. รวมถึงปัจจุบัน กฟผ. ก็เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เพิ่มขึ้น ที่เป็นการตั้งแบบลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งล่าสุดก็ได้ทำการเสนอต่อกระทรวงพลังงานไปเพื่อขอดำเนินการโซลาร์ลอยน้ำรวม 2,725 เมกะวัตต์ กระจายในเขื่อนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กฟผ. ได้ติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (เอนเนอร์ยี่ สตรอเรจ) ในโรงไฟฟ้าลพบุรี และชัยบาดาล เพื่อเป็นการนำร่องควบคู่พัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าให้เดินเครื่องในสถานการณ์ที่เชื้อเพลิงต่ำได้ (โรงไฟฟ้าเดินเบา) โดยเบื้องต้นเป็นการติดตั้งเพื่อกักเก็บไฟฟ้าประมาณ 20 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟได้ภายในช่วง 15 นาที กรณีที่โรงไฟฟ้าหลักเกิดเหตุดับหรือขัดก่อนเพื่อลดผลกระทบของประชาชนก่อนที่จะสามารถเดินเครื่องเข้าระบบของโรงไฟฟ้าหลักได้อีกครั้ง งบประมาณสถานีละ 800 ล้านบาท

นายวิบูลย์ กล่าวว่า กฟผ.ยังเดินหน้าพัฒนาหลายด้าน ซึ่งเมื่อดูจากศักยภาพของเขื่อนน้ำของ กฟผ. นั้นจะสามารถติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำและผลิตไฟฟ้าได้อีก 10,000 ในเขื่อนทั่วประเทศ และในอนาคตหากมีการติดตั้งเอนเนอร์ยี่สตรอเรจร่วมด้วย รวมถึงผนวกกับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำและไฟฟ้าจากการปั่นไฟ จะทำให้เขื่อนสามารถจ่ายไฟได้ต่อเนื่อง 18-20 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนการพัฒนาโรงไฟฟ้าเดินเบา เพื่อจะติดตั้งใช้กับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือก่อน และโรงไฟฟ้าแม่เมาะในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม แผนพีดีพีนั้นทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดว่าจะต้องมีการพิจารณาใหม่ทุก 5 ปี ซึ่งในอนาคตสัดส่วนดังกล่าวก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังมีแผนที่จะออกแบบโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งในช่วง 10 ปีนี้ เป็นโรงไฟฟ้าเชิงท่องเที่ยวด้วย โดยจะนำร่องในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีก่อน 2 แห่ง โดยเบื้องต้นมีแผนที่จะซื้อพื้นที่เพิ่มเพื่อพัฒนาพื้นที่ในการรองรับนักท่องเที่ยว และคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อนำเข้ามาอุปโภคและบริโภคในพื้นที่ คาดจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ก่อนที่จะขยายผลต่อไปยังโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน