กสทช. ไฟเขียวเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จำนวน 190 MHz จาก อสมท กองทัพบก และกองทัพไทย นำมาประมูลคลื่น 5G

เรียกคืนคลื่นจาก ‘อสมท-ทหาร’ – นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ได้รับทราบรายงานการวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ ในคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 MHz โดยเห็นชอบการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวนรวม 190 MHz จากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 154 MHz กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก และกรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย รวม 2 หน่วยงานอีก 12 MHz ที่เหลือเป็นคลื่นว่างที่ไม่มีการใช้งาน เพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล

“กสทช. ได้กำหนดวันสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็น 45 วันนับจากวันที่ กสทช. มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการยุติการใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืน โดยในระหว่างดำเนินการให้สามารถใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืนดังกล่าวไปพลางก่อนได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วันนับจากที่ กสทช. มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่”

พร้อมกันนี้ มีมติอนุมัติสำรองค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย รายการเงินงบกลางของสำนักงาน กสทช. ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 MHz การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในการนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในย่านความถี่ดังกล่าว จำนวน 3 ชุด รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7.5 ล้านบาท และเมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ 2500-2690 MHz เสร็จสิ้นแล้ว ให้ดำเนินการหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวจากเงินรายได้ที่ได้รับจากการประมูล

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 700MHz ที่จะนำมาประมูล 5G จะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกสทช. ในวันที่ 12 มี.ค. 2562 นี้ เพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ เช่น ผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ, การกำหนดมาตรการเยียวยา, กระบวนการประมูล, หลักการประมูล, จำนวนใบอนุญาต และอายุใบอนุญาต ขณะเดียวกันที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเฉพาะ (Regulatory Sandbox) หรือที่เรียกว่า ประกาศ Sandbox และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยประกาศฉบับนี้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนการทดลอง และทดสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน