รถไฟ ผุดโรงแรม 3 ดาวคืนละไม่ถึงพัน กลางสถานีบางซื่อ ให้นอนค้างรอเดินทาง พร้อม ลุยเปิดประมูลแปลงเอ เม.ย.นี้ เล็งผุดห้างก่อน ตั้งเป้าเปิดให้บริการพร้อม รถไฟฟ้าสายสีแดง ม.ค.ปี 64

รถไฟ ผุดโรงแรม 3 ดาว – นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเปิดประมูลพื้นที่แปลง เอ ขนาด 32 ไร่ วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ในโครงการโครงการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ว่า คาดว่ากลางเดือนนี้จะนำสรุปร่างเอกสารประมูล (TOR) ขึ้นรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์ ก่อนประกาศเชิญชวนนักลงทุนให้เข้าร่วมประกวดราคาต่อไปภายในปีนี้ เบื้องต้นจะพัฒนาให้เป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed-use Real Estate) มีทั้ง ร้านค้า โรงแรม ออฟฟิศ เป็นต้น

“ตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการแปลง A บางส่วน ไปพร้อมกับการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ และการเปิดเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อตลิ่งชันในวันที่ 1 ม.ค. 2564”

นายวรวุฒิกล่าวว่า จะนำร่องพัฒนาเป็นพื้นที่ศูนย์การค้าก่อน เพื่อรองรับและให้บริการกับผู้เดินทางก่อน รวมทั้งไม่ต้องผ่านการจัดทำอีไอเอด้วย ส่วนการพัฒนาเป็นโรงแรมนั้น จะเน้นรองรับผู้โดยสารทั่วไปที่ต้องการพักค้างคืน เพื่อเตรียมเดินทางต่อ เบื้องต้นจะสร้างเป็นโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ระดับ 3 ดาว ค่าเช่าคืนละไม่เกิน 1,000 บาท เพื่อบริการให้กับประชาชน

ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรีขนาด 21 ไร่ จากทั้งหมด 120 ไร่ ย่านโรงพยาบาลศิริราชนั้นจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาเป็น 4 กลุ่มอาคาร 4 ตึก วงเงินลงทุนรวม 3,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. อาคารโรงแรมและห้างสรรพสินค้าความสูง 13 ชั้น ขนาด 40,360 ตารางเมตร เป้าหมายคือให้ญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลธนบุรีเช่า ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีจำนวนหมื่นคนต่อวัน โดยชั้นที่ 1-3 จะเป็นร้านค้าและชั้นที่ 4-13 จะเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวประมาณ 720 ห้อง

2. ศูนย์พักฟื้นและดูแลสุขภาพ (Wellness Center) ความสูง 13 ชั้น พื้นที่ขนาด 21,096 ตารางเมตร มีห้องพักจำนวน 280 ห้อง มีเป้าหมายเป็นผู้พักฟื้นและดูแลสุขภาพ จากโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลธนบุรี 3. อพาร์ตเมนต์สำหรับบุคลาการทางการแพทย์และผู้สูงวัย ความสูง 13 ชั้น พื้นที่ขนาด 22,108 ตารางเมตร ห้องพักจำนวน 300 ห้อง เน้นกลุ่มแพทย์และผู้สูงอายุในฝั่งธนบุรี และ 4. อาคารที่พักพนักงานการรถไฟฯ ความสูง 13 ชั้น ขนาดพื้นที่ 26,900 ตารางเมตร จำนวน 315 ห้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีกลุ่มบริษัทเอกชนจำนวนมาก สนใจเข้าร่วมรับฟังการและเสนอความคิดเห็นในโครงการดังกล่าวจำนวนมาก อาทิ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ A, บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG, บริษัท ดิเอราวัณกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, โรงพยาบาลปิยะเวท, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน