วิกฤตส่งออกไทย-เดือนแรกกระอัก‘บาทแข็ง-สงครามการค้า-น้ำมัน’พ่นพิษ

วิกฤตส่งออกไทย-เดือนแรกกระอัก‘บาทแข็ง-สงครามการค้า-น้ำมัน’พ่นพิษ – ช็อกตาตั้งไปตามๆ กัน กับตัวเลขส่งออกเดือนแรกของประเทศไทย เพราะติดลบถึง 5.7%

แม้แต่เดิมประเมินไว้แล้วว่าส่งออกปีนี้น่าจะวิกฤตเพราะปัญหาระดับโลกรุมเร้าเหลือเกิน แต่กระนั้นเมื่อเห็นตัวเลขเดือนแรกก็อดจะใจหวิวไม่ได้

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) รายงานภาวะการส่งออกในเดือน ม.ค.2562 มีมูลค่า 18,994 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบถึง 5.7% ส่วนการนำเข้าในเดือนมกราคม มีมูลค่า 23,026 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14%

ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 7 ปี

แต่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันคงเป้าหมายการส่งออก ปีนี้ไว้ที่ 8% ตามเดิม

สาเหตุหลักมาจากภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้การค้าชะงักทั่วโลก ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้สินค้าไทยราคาสูงขึ้น หลายชาติชะลอการนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงประเทศคู่ค้าหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่าแทน

พิมพ์ชนก วอนขอพร

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสนค.กล่าวว่า หากต้องการผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมายปีนี้ 8% ไทยจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยมูลค่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน และต้องเผชิญความเสี่ยงจาก 4 ปัจจัยหลัก

1.การชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ

2.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

3.แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท กดดันรายได้ของ ผู้ส่งออก

และ 4.ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังคงกดดันบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก โดยประกาศทางการของทั้งสองฝ่าย ระบุว่าการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดี หลายฝ่ายคาดว่าทั้งสองประเทศจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างกันภายหลังการเจรจา และมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐ อาจยืดเวลาการขึ้นภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 มี.ค.

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญภาคเอกชนเข้าร่วมหารือสถานการณ์การส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เป็นต้น

น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า หลายฝ่ายประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้เผชิญปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งปัญหาสงครามการค้า การถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ ราคาน้ำมัน กดดันให้การค้าโลกชะลอตัวลง ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกต่างได้รับผลกระทบในเชิงลบ โดยเฉพาะไทยที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ตามมองว่าท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส เช่น ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ นิชมาร์เก็ต ในหลายประเทศ ก็ให้การยอมรับคุณภาพสินค้าไทย เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน เป็นต้น

“จะนำข้อเสนอของภาคเอกชนทุกกลุ่ม ไปปรับให้เข้ากับแผนส่งเสริมการส่งออกของกรมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เจาะลึกลงไปในรายอุตสาหกรรม ทำให้ทราบ จุดแข็ง-จุดอ่อนเป็นรายสินค้า ก็สามารถจะกำหนดแผน กระตุ้นโดยเฉพาะเป็นรายสินค้าในการบุกแต่ละตลาดได้ เชื่อว่าจะได้ผลมากกว่าแผนเดิมที่ทำเป็นภาพรวม”

น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว

 

สนั่น อังอุบลกุล

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การส่งออกไทยปีนี้ มีโอกาสขยายตัวได้ 3-5% แม้เดือนแรกของปีจะติดลบ แต่ก็เชื่อว่าหลังจากนี้จะดีขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2561 เอกชนมองว่าส่งออกจะโตได้ 5% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 8% ท้ายที่สุดก็จบลงที่บวก 6.7% เชื่อว่าปี 2562 นี้ถ้ารัฐกับเอกชนทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น การส่งออกก็น่าจะไปได้ดีเช่นกัน

กัญญภัค-ตันติพิพัฒนพงศ์

 

น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกเดือนม.ค.ที่ติดลบหนัก แม้ผู้ส่งออกจะรู้สึกช็อก แต่ก็เข้าใจว่าปัจจัยลบที่เกิดขึ้นนั้นยากต่อการควบคุม ส่วนหนึ่งมาจากความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งผล กระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งขันด้านราคา

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศ โดยจากการคำนวณพบว่าทุกๆ 1 บาท ที่แข็งค่าขึ้น จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง 3% ขณะที่อัตราเติบโตของการส่งออกจะลดลง 1%

ภาพรวมการส่งออกในปี 2562 แม้ว่ามูลค่าอาจจะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่หากดูตัวเลขย้อนหลังก็เชื่อว่าจะไม่แย่มากนัก โดยสรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี 2562 ว่าจะโตที่ 5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย ความผันผวนของสงครามการค้า และความผันผวนของค่าเงิน ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกูล

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาวะการส่งออกของไทยปีนี้ไม่ดีมากนักเหมือนในช่วงที่ผ่านๆ มา ซึ่งตั้งแต่ไตรมาส 4/2561 เริ่มเห็นภาพการชะลอตัวลงได้อย่างชัดเจน และต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ทำให้หลายสำนักออกมาทบทวนประมาณการการ ส่งออกปีนี้ลดลงเหลือ 4-5% จากความพยายามเดิม ที่อยากให้ตัวเลขส่งออกปีนี้โตได้ถึง 8% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)คาดส่งออก ปีนี้อยู่ที่ 5-7%

ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่แม้จะอยู่ในช่วงเจรจาช่วยต่ออายุ การบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐ เพื่อกีดกันรายการสินค้าที่นำเข้าจากจีน คิดเป็นมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท สร้างความกดดันการค้าโลก เพราะทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ที่สำคัญคือทิศทางค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันด้านต้นทุนและการกำหนดราคา ดังนั้น นอกจากจะเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแลอยู่แล้ว ขณะเดียวกันอยากให้ผู้ประกอบการซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น แม้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่คุ้มค่า

ตบท้ายที่แบงก์ชาติ นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า เดือนม.ค. มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวถึง -5.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือน ธ.ค.2561 ที่หดตัว -1.6% เป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้า มาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลงจากภาวะ เศรษฐกิจของประเทศ คู่ค้า และผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่าง สหรัฐ-จีน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีทิศทางชะลอตัวลงจากปี 2561 ส่วนจะมากหรือน้อยต้องติดตามสถานการณ์กันอีกครั้ง เป็นผลมาจากทิศทางการค้าโลกที่ไม่ค่อยดี ทั้งจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐและจีน

“ประเมินว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2562 จะหดตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากเทรนด์การค้าโลกที่ยังไม่ค่อยดี ส่วนจะกระทบมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งจะมีทิศทางการปรับประมาณการส่งออกที่คาดไว้ทั้งปี ที่ 3.8% หรือไม่ จะต้องรอข้อมูลในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป” นายดอนกล่าว

เมื่อฟังความเห็นจากหน่วยงานทั้งหมดแล้ว ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายเล็กคงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ด้วยความไม่ประมาท โดยเฉพาะความเสี่ยงจากค่า เงินบาท และผลกระทบจากสงครามการค้า จะฉุดให้ ส่งออกติดลบตลอดทั้งปีหรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน