พลังงาน หนุน กฟผ. ลุยซื้อไฟลาวใหม่ ให้ค่าตอบแทนที่สะท้อนต้นทุน ยันไม่ห่วงไทยใช้ไฟพีกร้อนนี้ มั่นใจสำรองสูง

ไม่ห่วงไทยใช้ไฟพีกร้อนนี้ – นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวในโอกาสร่วมเป็นประธานพิธีลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศไทย และสปป.ลาว ว่า เป็นความร่วมมือของ 2 ประเทศในการแลกเปลี่ยนพลังงานผ่านการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ (เควี) โดยล่าสุดมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฉบับใหม่ สำหรับดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนเซเสด และโครงการเขื่อนน้ำงึม 1 เนื่องจากฉบับแรกที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2544 และ 2549 ตามลำดับ จะหมดอายุลงภายในเดือนมี.ค.นี้ ตั้งเป้าจะให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามการซื้อขายไฟในปัจจุบันโดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปี 2562 ตามปริมาณไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อจากรัฐวิสหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) ได้แก่ ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) อยู่ที่ 1.80 บาทต่อหน่วย และนอกเหนือช่วงเวลาดังกล่าว (ออฟพีก) จะอยู่ที่ 1.53 บาทต่อหน่วย คิดเป็นอัตราเฉลี่ยประมาณ 1.63 บาทต่อหน่วย เพิ่มจากสัญญาฉบับเดิมที่อยู่ที่ 1.33 บาทต่อหน่วย ขณะที่อัตราตามปริมาณไฟฟ้าที่ ฟฟล. รับซื้อจาก กฟผ. ช่วงพีกจะอยู่ที่ 1.90 บาทต่อหน่วย ช่วงออฟพีกจะอยู่ที่ 1.63 บาทต่อหน่วยคิดเป็นอัตราเฉลี่ย ประมาณ 1.7 3 บาทต่อหน่วย

“การทำสัญญาฉบับใหม่จะมีราคาที่เหมาะสมขึ้น และสูงกว่าสัญญาเก่า โดยคำนวณจากราคาต้นทุนผันแปร ถ้าต้นทุนสูงก็จะมีอัตราที่สูงขึ้นเพื่อความเป็นธรรมต่อประเทศลาวในช่วงที่ต้องแบกรับต้นทุนสูง และไม่เป็นภาระให้ประเทศไทยในช่วงที่ราคาต้นทุนต่ำลง โดยไทยและลาวมีสัญญาซื้อขายไฟตามความร่วมมือทั้งหมด 9,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีสัญญาผูกพันธ์แล้ว 6,000 เมกกะวัตต์ และตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) 2018 นั้นได้ระบุไว้ว่าไทยจะต้องซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศรวมทั้งหมด 3,000 เมกะวัตต์ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเราก็ต้องมาศึกษาและเจรจากันถึงความเหมาะสมว่าจะซื้อขายกันในช่วงไหน ปริมาณเท่าไหร่”นายศิริ กล่าว

ขณะเดียวกันจะมีสัญญาใหม่ที่เกิดขึ้นกับประเทศลาวในอนาคตได้แก่การรับซื้อไฟจากการผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำ ที่ไม่ใช่เป็นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แต่จะเป็นการติดตั้งเครื่องปั่นไฟกั้นแม่น้ำในประเทศลาวเพื่อใช้กระแสน้ำผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งจะมีการส่งไฟฟ้ามายังประเทศไทยในช่วงปี 2568-69 จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ และในปี 2573-78 จะเพิ่มเป็น 2,600 เมกะวัตต์

สำหรับสถานการณ์พีกของประเทศไทยในปีนี้ จากการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ จะสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 32,000-34,000 เมกะวัตต์ต่อวัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึง 40,000 เมกะวัตต์ ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าร้อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน