‘ศิริ’ เปิดโซลาร์ประชาชนประเดิม 100 เมกกะวัตต์ รับซื้อเข้าระบบ 1.68 บาท/หน่วย หวัง 10 ปีครอบคลุม 2 แสนครัวเรือน เงินสะพัด 4 หมื่นล้านบาท

‘ศิริ’ เปิดโซลาร์ประชาชน – นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการเปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า การดำเนินงานโครงการเป็นไปตามดำเนินการตามมติคณะกรรมการการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ได้กำหนดหลักการนำร่องรับจดทะเบียนเจ้าของบ้านและอาคารที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ต้องการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) เพื่อใช้เอง และสามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของรัฐได้เพื่อขายผลผลิตไฟส่วนเกินจากการใช้เข้าสู่ระบบโดยจะนำร่อง 100 เมกะวัตต์ต่อปี ตลอดระยะเวลา 10 ปีรวมเป็น 1,000 เมกกะวัตต์ โดยจะเริ่มจดทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562 นี้

“ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวเราตั้งเป้าว่าจะครอบคลุมผู้ที่สนใจทั้งสิ้น 200,000 ครัวเรือนในช่วง 10 ปี โดยเราได้ออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตแผงโซลาร์และผู้ประกอบการติดตั้งระบบในประเทศ รวมถึงสถาบันอาชีวะศึกษา มีส่วนร่วมในธุรกิจติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ โดยคาดว่าในช่วง 10 ปีนี้จะเกิดเงินหมุนเวียนกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ดำเนินการเรื่องโซลาร์เห็นชอบและสนใจที่จะเข้าร่วมรวมกว่า 30 รายแล้ว”นายศิริ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่เปิดรับซื้อไฟได้ด้วยเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงต้องติดตามว่าหากในช่วงแรกที่มีการขอเข้าร่วมโครงการมากกว่าโควต้าที่กำหนด 100 เมกกะวัตต์ต่อปีนั้น อาจจะพิจารณารับทั้งหมดเลย แต่ก็ต้องกลับไปดูความพร้อมของระบบก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะอยู่ในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง และอาจจะต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่นั้น โครงการดังกล่าวไม่น่าจะได้รับผลกระทบหรือต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างใด แต่หากจะต้องยกเลิกก็ต้องมีเหตุผลที่ดีพอสมควรหรือจะมีโครงการอื่นๆ ที่มาช่วยเหลือประชาชนที่ดีกว่านี้

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. กล่าวว่า กกพ. จะเริ่มประชาสัมพันธ์ตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้ และเปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่เดือนพ.ค. และหมดเขตรับสมัคร ภายในสิ้นปี 2562 ก่อนที่จะทยอยประกาศรายชื่อที่ผ่านพิจารณาตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2562 และกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ตลอดปี 2562 นี้ จึงอยากให้ประชาชนมีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วย

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า เป้าหมายรับซื้อรวม 100 เมกวัตต์ แบ่งเป็นในพื้นที่ กฟน. รวม 30 เมกะวัตต์ และ กฟภ. รวม 70 เมกะวัตต์ และราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อยาวนาน 10 ปี ทั้งนี้ เงินลงทุนของผู้ที่จะติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ พื้นที่ต้องการ 7 ตารางเมตรต่อ 1 กิโลวัตต์ จะสามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 1,489.2 หน่วยต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน