จีดีพี เกษตรไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวต่ำแค่ 0.5% เหตุแล้ง ทำผลผลิตอ้อยลดลง รั้งสาขาพืชโตน้อยแค่ 0.1% แต่ตั้งเป้าทั้งปีโต 3% แต่ยังห่วง ราคายาง ปาล์มน้ำมัน และสับปะรดวูบ

อ้อยฉุดจีดีพีเกษตรวูบ – น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีเกษตร) ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียง 0.5% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำหรือทรงตัว เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของสาขาที่สัดส่วนสูงสุดในภาคเกษตรชะลอตัว

ทั้งนี้ การผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย ยกเว้นอ้อยโรงงาน ซึ่งมีมูลค่าการผลิตสูงสุดในสาขาพืช ในไตรมาสแรกมีผลผลิตลดลง

ด้านการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งมีการจัดการฟาร์มที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่วนการผลิตสินค้าประมง ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการทำประมงทะเลและการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมีทิศทางเพิ่มขึ้น

เมื่อแยกแต่ละสาขา พบว่าสาขาพืช ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดย ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากต้นยางพาราที่ปลูกตั้งแต่ปี 2556 เริ่มกรีดได้ ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ขณะที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอ

ผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้การแตกกอและการเจริญเติบโตของต้นอ้อยไม่สมบูรณ์ ประกอบกับในช่วงปลายปี 2561 มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้น ทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งตัดอ้อยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค. 2560 ถึงก.ค. 2561 ทำให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ด้านราคา ในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. 2562 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ยังมีอย่างต่อเนื่อง และมันสำปะหลัง เนื่องจากผลผลิตมีน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่องสินค้าพืชที่ราคาเฉลี่ยลดลงและน่าเป็นห่วงในครึ่งปีหลัง ได้แก่ ข้าว เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ อ้อยโรงงาน ราคาลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากปริมาณน้ำตาลของโลกอยู่ในภาวะล้นตลาด สับปะรดโรงงาน ที่ผลผลิตมีมากกว่าความต้องการของตลาดทำให้แนวโน้มราคาลดลง ยางแผ่นดิบ มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เปิดกรีดยางใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการภายในประเทศชะลอการสั่งซื้อยาง รวมถึงผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินของผลผลิตยางพาราโลก ปาล์มน้ำมัน มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาสู่ตลาดมาก รวมทั้งสต๊อกน้ำมันปาล์มมีปริมาณสูง

สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว 1% โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อ เพิ่มขึ้นรองรับการส่งออก แต่ราคาในประเทศลดลง สุกร เพิ่มขึ้นจากราคาที่อยู่ในระดับที่ดี เกษตรกรมีแรงจูงใจในการผลิตแต่ยังต้องเฝ้าระวัง การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา ที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นตามคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น ส่วนราคาไก่เนื้อลดลง เนื่องจากมีผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดในปริมาณมาก

สาขาประมง ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว 1.5% จากปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีทิศทางเพิ่มขึ้น ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี โดยราคา ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2562 กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม โดยเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว 2.6% สาขาป่าไม้ ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว 2.2%

ทั้งนี้ จีดีพีทั้งปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% น้อยกว่าเมื่อเทียบกับจีดีพี ในปี 2561 ที่ขยายตัว 4.6% เนื่องจากสภาพน้ำไม่เอื้ออำนวย แต่ยังคาดว่าทุกสาขาการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยสนับสนุน คือ การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ แม้มีรัฐบาลใหม่เข้าแต่ทุกพรรคมีนโยบายด้านการเกษตรที่คล้ายกัน จึงคาดว่าจะไม่มีผลต่อนโยบายโดยรวมมากนัก ในขณะที่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังไม่ได้ส่งผลกระทบ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะติดตาม อย่างใกล้ชิด

สำหรับ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 146.09 เพิ่มขึ้น 0.63% จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยดัชนีผลผลิตในหมวดพืชผล เพิ่มขึ้น 0.35% ปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น 1.54% และหมวดประมง เพิ่มขึ้น 1.16% ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 127.73 ลดลง 0.77% จาก ไตรมาส 1 ปี 2561 โดยดัชนีราคาในหมวดพืชผล ลดลง 4.20% และหมวดประมง ลดลง 11.24% ในขณะที่หมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น 15.34%

ดัชนีรายได้เกษตรกร ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 186.60 ลดลง 0.15% จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยดัชนีรายได้เกษตรกรในหมวดพืชผล ลดลง 3.87% และหมวดประมง ลดลง 10.21% อย่างไรก็ตาม หมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น 17.11%

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 2 ปี 2562 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 148.39 เพิ่มขึ้น 1.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 0.24% และดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 0.86% โดยมีปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในขณะที่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน