กาญจนบุรี นำร่องพื้นที่ห้ามเผาอ้อยเด็ดขาด หนุนใช้รถตัดแทน คาดเริ่มในฤดูกาลปี’63 และจะเป็นมาตรการที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นก่อนที่จะขยายในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

กาญจนบุรีนำร่องห้ามเผาอ้อย – นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า ได้หารือแผนร่วมกันในการดูแลการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมกำหนดพื้นที่ห้ามมีการเผาอ้อยอย่างเด็ดขาด และนำเครื่องจักรรถตัดอ้อยเข้าไปใช้อย่างครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 โดยจะนำร่องในจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม มีการนำรถตัดอ้อยมาใช้ในหลายพื้นที่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในฤดูกาลปี 2563 และจะเป็นมาตรการที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นก่อนที่จะขยายในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

พสุ โลหารชุน

“มาตรการต่างๆ จะมีการร่วมมือภาคเอกชน ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และร่วมมือภาคเอกชนที่มีรถตัดอ้อยขนาดเล็ก ที่เหมาะสมกับกับการนำมาใช้ตัดอ้อยเพื่อร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี แล้ว โดยจังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นพื้นที่มีโรงงานอ้อยจำนวน 10 แห่ง และมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 4 แสนไร่ ซึ่งการดูแลปัญหาการเผาอ้อยจะเป็นหนึ่งในแนวทางร่วมช่วยแก้ปัญหาฝุ่นมลพิษในประเทศได้ในระยะยาว”

นอกจากนี้ ได้หารือเรื่องพ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ ที่จะดูแลกำหนดพื้นที่เหมืองแร่ว่า จะต้องทำในพื้นที่ใดได้บ้างร่วมกัน โดยการทำเหมืองแร่ต่อไป จะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือเอสอีเอ โดยต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ ต่อไป ซึ่งจะมีคณะทำงานมาพิจารณาร่วมกันว่า ควรดำเนินการเหมืองแร่ชนิดใดก่อน โดยจะพิจารณาเหมืองแร่ใดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนที่สุด และดูแลพื้นที่ได้รับอนุญาตทำเหมืองแร่ ทั้งการฟื้นฟูและการปรับปรุงส่งพื้นที่คืนร่วมกัน

ขณะเดียวกันได้หารือถึงการร่วมผลักดันการผลิตรถยนต์มลพิษต่ำ โดยกำหนดการผลิตรถยนต์นั่งใหม่ ให้เป็นมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศมาตรฐานยูโร 6 ภายในปี 2565 เร็วกว่าแผนเดิม 1 ปี และต่อไปจะประสานข้อมูลเรื่องศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำ และอากาศ ในพื้นที่แห่งใหม่ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จ.ชลบุรี โดยจะมีการดูแลทั้งสภาพแวดล้อมทางน้ำและอากาศร่วมกัน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน จากที่ผ่านมาทั้ง 2 กระทรวง มีศูนย์ในการดูแลแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งจะร่วมมือกันทำให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะมาดูแล โดยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เป็นการช่วยดูแลสังคม

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดมาตรการดูแลการเผาอ้อยที่นำร่อง ในจ.กาญจนบุรีฤดูกาลปี 2563 ที่มีการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมโรงงานอ้อยและการผลักดันนำรถตัดอ้อยขนาดเล็กไปในพื้นที่ ซึ่งจะมีความเหมาะสมมากที่สุด ส่วนจะมีการขยายไปในพื้นที่อื่นๆ หรือไม่จะต้องทำแผนร่วมกันต่อไป โดยปัจจุบันไทยมีโรงงานน้ำตาลรวม 55 แห่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน